นายกรัฐมนตรีประชุมบอร์ดบีโอไอ ย้ำไทยเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน ยกระดับประเทศด้วยมาตรการการแข่งขัน สร้างอาชีพสร้างรายได้ เพิ่ม GDP ประเทศ  

 

นายกรัฐมนตรีประชุมบอร์ดบีโอไอ ย้ำไทยเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน ยกระดับประเทศด้วยมาตรการการแข่งขัน สร้างอาชีพสร้างรายได้ เพิ่ม GDP ประเทศ

วันนี้ (30 มิ.ย.64) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน การผลิต ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยจะต้องศึกษาทั้งภายในประเทศ ในอาเซียน และบริบทต่าง ๆ ของโลก โดยช่วงที่ผ่านมาแนวทางการใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนเริ่มมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น เพราะกฎระเบียบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากกลุ่มประเทศ G7 ที่ได้จัดทำข้อตกลงการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีโลก ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการลดการใช้มาตรการภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และบริษัทข้ามชาติมาชำระภาษีในประเทศที่เข้าไปประกอบธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะลดความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้น บีโอไอจำเป็นต้องปฏิรูปแนวทางดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของไทย ให้ทันสมัยกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งระดับอุตสาหกรรมและกลุ่มบริษัทเป้าหมาย ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรม BCG  และ EEC รวมทั้งต้องมีการกำหนดมาตรการอื่นที่มิใช่ภาษีเข้ามาเพิ่มเติม โดยนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่

1. กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนา และปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในระยะต่อไป เน้นลงเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม 
2. ประเมินความคุ้มค่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ กับภาษีที่รัฐต้องสูญเสีย เหมือนกับการปรับอัตราภาษีอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ
3. กำหนดเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย และ KPI ที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถคงประสิทธิภาพของมาตรการส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. จัดทำข้อเสนอมาตรการคู่ขนาน มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการผลักดันอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปรึกษาหารือกันให้ได้ข้อสรุป ว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพราะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาของการได้เปรียบเสียเปรียบกันทั้งสิ้น ใครที่ทำได้เร็วกว่า ทำได้ดีกว่า ก็จะเป็นผู้ที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดหวังให้ประเทศไทย ต้องเดินหน้าในเรื่องนี้ จะหยุดหรือรอโควิดไม่ได้ โดยจะต้องเตรียมการสร้างการรับรู้ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการทำประชาพิจารณ์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งนักลงทุนในประเทศ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ จะต้องร่วมกันหาวิธีการให้ได้ จะต้องวางผังประเทศไทยใหม่ว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด หาแนวทางให้หลุดพ้นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ให้ไปสู่การพัฒนาที่สูง และสูงสุดในอนาคต ซึ่งจะต้องทำเพื่อวันนี้และเพื่ออนาคต ต้องหาวิธีการที่จะปลดล็อกต่าง ๆ หากจำเป็นต้องแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ก็ต้องปรับเท่าที่จำเป็น  โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้ผลสรุปในสิ่งที่จะต้องเดินต่อไปในวันข้างหน้า เพื่อยกระดับประเทศด้วยมาตรการการแข่งขัน ด้วยมาตรการสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพิ่ม GDP ประเทศ ทั้งหมดคือหลักการ จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ที่สำคัญคืออย่าติดกับดักของประเทศตัวเอง และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและสังคมด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการมีหลักคิด มีแนวคิดที่ไม่ใช่ความขัดแย้ง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้
 
สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการและประเภทกิจการการส่งเสริมการลงทุนในหลายมาตรการเพื่อเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้
 
ปรับปรุงสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในหลายประเด็น ได้แก่
1) กรณีที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท นอกจากจะได้จำนวนปียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 5 ปี ตามขนาดการลงทุนและค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังไม่กำหนดเพดานการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย 
2) ยังเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่า สำหรับกรณีที่มีการลงทุนเพิ่มในการฝึกอบรม หรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนมากขึ้น
3) กรณีที่เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เข้าข่าย เช่น วิจัยพัฒนา ฝึกอบรม ออกแบบ และพัฒนา Supplier ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ยังจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้
 
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ บีโอไอได้ปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตเวเฟอร์ที่ใช้เงินลงทุนสูง และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี นอกจากนี้ เพื่อเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศรายใหม่และสนับสนุนการขยายฐานการผลิตของรายเดิมในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หรืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มไปสู่รุ่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตและเงินลงทุนสูง และเป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติ จึงได้ปรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็น 8 ปี ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนอุตสาหกรรม PCBA ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ได้ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 500 ล้านบาท
 
ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและรวดเร็วในการให้การส่งเสริมฯ มุ่งให้เกิดการสร้างบุคลากรไทยด้านไอที และสร้างให้เกิดกระบวนการพัฒนาในประเทศ บีโอไอจึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการซอฟต์แวร์ กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยยุบรวมประเภทกิจการให้เหลือเพียง 1 ประเภท ได้แก่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการให้การส่งเสริมฯ และตอบสนองรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องจ้างงานและพัฒนาบุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หรือได้รับใบรับรองมาตรฐานด้านไอที (CMMI ระดับ 2) ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและให้บริการในระดับนานาชาติ
 
บีโอไอยังได้ยกระดับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยเพิ่มประเภทกิจการกลุ่มบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging) ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์ทั่วไปมาพัฒนาต่อยอดกับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การบ่งชี้คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ภายในบรรจุภัณฑ์ หรือมีระบบที่สามารถตรวจติดตาม บันทึก สืบค้น สภาวะของผลิตภัณฑ์ในภาชนะบรรจุ เป็นต้น โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี
 
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในอนาคตตามแนวคิด BCG และรองรับเทคโนโลยีใหม่ บีโอไอได้ปรับปรุงสิทธิและประโยชน์ในกลุ่มวัตถุดิบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเกรดพิเศษ คอมพาวด์พลาสติกชนิดพิเศษ รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี อีกทั้งยังขยายให้ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ บีโอไอได้ปรับเงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Office: TISO) โดยเพิ่มขอบข่ายให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมเงินแก่วิสาหกิจในเครือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ
 
ทั้งนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่รวมเกือบ 50,000 ล้านบาท หนุนกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้า การขนส่งก๊าซทางท่อ สร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศด้วย
----------------------- 
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก