มูลนิธิปู่ลาจัดงานประเพณีบวงสรวงปู่ลา ประจำปี 2568 อย่างยิ่งใหญ่ ณ. ศาลปู่ลา โรงเรียนบ้านซับบอน จ.เพชรบูรณ์
วันที่ 29–30 เมษายน 2568 มูลนิธิปู่ลา โดยนายถาวร บุญวิเศษ ประธานมูลนิธิ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ชาวบ้านในพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลกันจุ ได้จัดงานประเพณี “ทำบุญบวงสรวงปู่ลา ขอขมาปู่ย่า เหิรฟ้าบุญบั้งไฟ” ขึ้น ณ. บริเวณศาลปู่ลา โรงเรียนบ้านซับบอน หมู่ที่ 7 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณ "ปู่ลา" อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน กิจกรรมเริ่มขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 29 เมษายน โดยมีการจัดฉายหนังกลางแปลงฟรีเพื่อความบันเทิงของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน เวลา 07.30 น. ผู้ร่วมกิจกรรมได้ตั้งขบวนแห่ ณ บริเวณหน้าป้อมยามตำรวจ สี่แยกซับบอน ซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติจากขบวนนางรำจากอำเภอหล่มเก่า นำโดยครูบุญช่วย ทองเถาว์ และภรรยา (ครูเหมียว)จากบ้านปลาฝา (ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนคน 3 วัย) พร้อมด้วยขบวนแห่บั้งไฟเคลื่อนเข้าสู่ศาลปู่ลาเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงตามประเพณี โดยมีพราหมณ์ดนัยเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม
เวลา 09.30 น. นายสุเทพ เบียร์ดี นายอำเภอบึงสามพัน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยมีนายวริษฐ์ บุญรุ่ง นายกเทศมนตรีตำบลกันจุ กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของการจัดงานครั้งนี้
ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากชุมชนต่าง ๆ อาทิ:
การแสดงจากชมรมคนรักไทยหล่ม
การแสดงของกลุ่มไทยทรงดำ บ้านลำตะคร้อ
การแสดงนาฏศิลป์จากหมู่บ้านในเขตตำบลกันจุ
การแสดงจากโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ อบต.กันจุ
การเต้นบาสโลปจากชมรมคนรักสุขภาพ อำเภอบึงสามพัน
นอกจากนี้ยังมีการจัดโรงทานอาหารกลางวันบริการฟรีแก่ผู้ร่วมงานทุกท่าน เวลา 13.00 น. ได้มีพิธีจุดบั้งไฟบูชา เพื่อแสดงความเคารพต่อฟ้าดิน ตามความเชื่อโบราณ และเวลา 14.00 น. มีพิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในชุมชน โดยนายถาวร บุญวิเศษ และภรรยา ร่วมแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณ ในช่วงท้ายของงาน นายสุเทพ เบียร์ดี นายอำเภอบึงสามพัน ได้ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ภายในศาลปู่ลา เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและความร่มรื่นของสถานที่ พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม งานประเพณีบวงสรวงปู่ลา ครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย กระชับความสัมพันธ์ภายในชุมชน และปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาขนบธรรมเนียมให้คงอยู่สืบไป