รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นบ.ยส.24 บูรณาการ“Seal Stop Safe” เพื่อป้องกันยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ
วันที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 1330 น. ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ จังหวัดนครพนมตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อติดตามปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ผนึกกำลัง อำเภอชายแดน เพื่อมอบนโยบายในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน เร่งรัดการดำเนินงานสกัดกั้น ยาเสพติดตามแนวชายแดนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลตำรวจเอก ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
พลโทบุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม โดยได้รับฟังบรรยายสรุปสถิติและการปฏิบัติที่สำคัญแต่ละมาตรการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบนโยบาย ข้อสั่งการ และข้อเน้นย้ำ แนวทางการปฏิบัติงาน ตามที่รัฐบาลได้ออกประกาศเรื่องกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและผู้รับผิดชอบเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่อำเภอชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนใน 7 จังหวัด 25 อำเภอชายแดน มีหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) เป็นหน่วยรับผิดชอบ มีภารกิจวางแผนบูรณาการอำนวยการประสานงาน
ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ปราบปรามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด บำบัดผู้ป่วยจิตเวช ยาเสพติด จัดตั้งหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และแก้ไขปัญหายาเสพติดด้านอื่นๆในพื้นที่ชายแดน โดยได้ดำเนินการตาม 6 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสกัดกั้น มาตรการปราบปราม มาตรการป้องกัน มาตรการบำบัดรักษา มาตรการบูรณาการ มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าการมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ที่ปฏิบัติงานของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปรามปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ ถือว่าเป็นหน่วยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสำคัญหลักของชาติ โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และรัฐบาลนี้ก็ให้ความสนใจให้ทุ่มเทในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศชาติ มีความมั่นคงปลอดภัย และนับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ผมและทีมงาน ได้เข้ามารับทราบผลการปฏิบัติงานรวมถึงรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหา และเพื่อเป็นการ
เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น ขอชื่นชมในความทุ่มเท เสียสละ และความมุ่งมั่นของทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ และดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยเฉพาะในภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมไทยจากการรับฟังบรรยายสรุป เห็นถึงความเข้มแข็ง และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินการสกัดกั้น ลำเลียง ปราบปราม ตลอดจนบำบัดและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในพื้นที่ชายแดนและตอนใน โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 รวมถึงการขับเคลื่อน “ธวัชบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการและสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา และขอให้หน่วยดำเนินการดำรงความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานเชิงรุก โดยใช้การข่าวและการลาดตระเวนเชิงลึก ควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในประเทศได้ตั้งแต่แนวหน้า ส่งเสริมการประสานความร่วมมือข้ามหน่วยงานและข้ามพรมแดน เพื่อเสริมสร้างระบบความมั่นคงแนวชายแดน โดยเฉพาะการมีจุดประสานงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง เป็นปราการด่านหน้าในการเอาชนะยาเสพติด และเป็นกลไกในการดูแล พี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด สนับสนุนภารกิจการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้กระทำผิด เร่งรัดการผลักดันโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน และการของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ ผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกำลังพลทุกนายว่า จะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อปกป้องประชาชนและประเทศชาติให้ปลอดภัยจากภัยยาเสพติด และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลจากการดำเนินงานด้านยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 - ปัจจุบัน ในพื้นที่รับผิดชอบ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ จำนวน 696 ครั้ง ผู้ต้องหา 974 ราย ของกลาง ยาบ้า 104,955,437 เม็ด,ไอซ์ 4,084 กิโลกรัม, เฮโรอีน 124 กิโลกรัม เคตามีน 777 กิโลกรัม และอื่นๆ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นมากถึง เจ็ดพันหนึ่งร้อยล้านบาทเศษ (7,171,815,610 บาท)
จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญให้กับกำลังพลในการปฏิบัติงานหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล ถือเป็นการขอบคุณและตอบแทนในความทุ่มเท เสียสละในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับตลอดมา รวมถึงสร้างศรัทธาให้กับประชาชน เพื่อความมั่นคงของชาติ สร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตามที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยทุกหน่วยต้องร่วมมือกัน Seal พื้นที่ชายแดนให้แน่นหนา ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างจริงจัง เพื่อความสงบสุขและมั่นคงของประชาชนไทยทุกคนต่อไป
พรพิพัฒน์ เพ็ชรสังหาร ภาพ/ข่าว