ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน (เศรษฐกิจฐานราก)   

                   ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน (เศรษฐกิจฐานราก)

 

               วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสุขฤทัย ชั้น ๑ อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกกชัย  ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน (เศรษฐกิจฐานราก) โดยแจ้งว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ รับโล่รางวัล "สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่น ระดับเขต" เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ ณ   ห้องแกรนด์โดมอนด์ บอลรูม อาคาร อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนทบุรี ในงานประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรางวัลที่ได้รับเกิดจากการขับเคลื่อนของคณะกรรมการ ที่ร่วมกันส่งเสริมการวิจัยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง และส่งเสริมการประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

          ในการประชุมได้ติดตามโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในสตรอว์เบอร์รีแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อำเภอหล่มเก่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์สตรอว์เบอร์รี่ ร่วมกับหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร เขตสุขภาพที่ ๒ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มีการตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างยาฆ่าแมลง จำนวน ๒ กลุ่มสาร ได้แก่ คาร์บาเมท และออร์กาโนฟอสเฟต ตรวจหาสารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่มไดไทโอคาร์บาเมท ผลการตรวจปรากฏว่า อำเภอหล่มเก่า เก็บตัวอย่างรวมทั้งสิ้น จำนวน ๔๘ ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน จำนวน ๑๗ ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๔๒ จากสถานการณ์ปัญหาที่พบข้างต้น จึงได้ทำโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในสตรอว์เบอร์รีแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่
อำเภอหล่มเก่า โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผลผลิตให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและลดสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในร่างกายเกษตรกร เกษตรกรที่ร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์จะทำการแจกป้ายเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมี ติดตั้ง ณ แปลงปลูกสตรอว์เบอร์รี ผลปรากฏว่ามีเกษตรกรได้รับป้าย จำนวน ๑๒ แปลง แจกสติ๊กเกอร์ สตรอว์เบอร์รีปลอดภัยภูทับเบิก ติดกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รี จำหน่าย ณ จุด จำหน่าย ในปี ๒๕๖๘ จะทำการจัดอบรมเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย ในอำแภอหล่มเก่าและอำเภอเขาค้อ อีก ๔๐ แปลง

                    สำหรับแผนงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน (เศรษฐกิจฐานราก) จังหวัดเพชรบูรบูรณ์
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ มีโครงการอบรมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์สุขภาพสู่รางวัลเชิดชูเกียรติ อย.ควอลิตี้ อวอร์ด จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคาดหวังให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามเกณฑ์รางวัลเชิดชูเกียรติ อย. ควอลิตี้ อวอร์ด  รวมผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น ๔๐ คน โครงการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ทำการสำรวจสถานที่ผลิต ผลิตภัตภัณฑ์สุขภาพ พบว่า มี ๓ แห่งที่ประสบภัย ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารปลอดสารพิษ อำเภอศรีเทพ เกษร ฟู้ด โปรดักส์ อำเภอวิเชียรบุรี  วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตและแปรรูปมะขามอำเภอชนแดน อำเภอชนแดน เบื้องต้นตรวจเยี่ยมสถานที่ผลิตอาหารและแนะนำปรับปรุงแก้ไขสถานที่และเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
ไม่คิดค่าใช้จ่าย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีงบประมาณสนับสนุนพัฒนาผลิตบรรจุภัณฑ์และฉลาก

        การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพกลุ่มเป้าหมายตามแผนการส่งเสริมของ จังหวัดให้ได้รับการอนุญาต จำนวน ๓๐ รายการ โดยจะดำเนินการให้ ครอบคลุม ๑๑ อำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้ประกอบการมีการขึ้นทะเบียน OTOP กับกรมการพัฒนาชุมชน และวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน ๑,๑๐๐ รายการ จะขอให้สำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ตรวจสอบสถานะของผู้ที่ขึ้นทะเบียนว่ายังมีการผลิตหรือไม่เพื่อที่จะพิจารณานำผู้ประกอบการเข้าสู่การส่งเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

         สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพฉลากโภชนาการ GDA จำนวน ๑๑ รายการ โครงการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายมะขามแช่อิ่ม/ผลไม้แช่อิ่มนำร่อง การเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคระห์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ มีแผนดำเนินการจัดอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ
(คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สดและเกษตรกร ในวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๘ กลุ่มเป้าหมาย ๘๐ คน โดยเป็นการให้ความรู้ในการขออนุญาตและพัฒนาสถานประกอบการ (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สด การปลูกผักปลอดภัย การสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างเบื้องต้น ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีงบสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ ผักและผลไม้สด โดยตรวจ ๑๓๒ รายการให้กับสถานประกอบการ (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สด  เพื่อตรวจหาสารตกค้างยาฆ่าแมลง ๔ กลุ่มสาร เพื่อรับรองผลการตรวจผักปลอดภัยและสนับสนุนสติ๊กเกอร์ผักปลอดภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อติดบนบรรจุภัณฑ์ที่นำออกจำหน่าย