ประชุมอนุกรรมการบริหาร นายกสภาสถาบันการอาชีวะศึกษาภาคเหนือ 4 เรียก คณะอนุกรรมการบริหารประชุม หารือแนวพัฒนาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษา
ประชุมอนุกรรมการบริหารนายกสภาสถาบันการอาชีวะศึกษาภาคเหนือ 4 เรียก คณะอนุกรรมการบริหารประชุม หารือแนวพัฒนาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษา
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณห้องประชุม Smart Classroom วิทยาลัยเทคนิคพิจิตรอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร นายสุนทร ทองใส นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4 จัดประชุมสัญจร คณะอนุกรรมการบริหารสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุมให้ข้อเสนอแนะได้แก่ นายณรงค์ จันทะธรรม ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลอ้อมน้อย นายองอาจ อ่ำพุธ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี นายสมสันต์ ลือกำลัง ประธานอ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรีเขต 2 นายอำนวย เรือนสุข อดีตผู้อำนวยการ วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ได้แก่ นายชาติชาย เกียรติพิริยะ ประธานคณะอนุกรรมการ นายศักดา ถาวรพจน์ รองประธานอนุกรรมการ นายเริงชัย น้อยแก้ว อนุกรรมการ นายรังสรรค์ นุสติ ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาบัณฑิต นายจักรพงษ์ สงล่า ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ โดยในการประชุมได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องการพัฒนาวิทยาลัยในสังกัด เพื่อหาทางเพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต
ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร คือ ครูอาจารย์ เพื่อเพิ่มวุฒิทางการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนการทำวิจัย เพื่อการพัฒนา รวมถึงการประสานงานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ภาคเอกชน เพื่อหาความร่วมมือในการผลิตหลักสูตร และการรับรองคุณวุฒิเพื่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติราชการ
อีกส่วนหนึ่งคือการสำรวจความต้องการของท้องถิ่น ของบริษัทห้างร้าน และส่วนราชการ เพื่อจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการเพิ่มจำนวนนักศึกษา เมื่อหลักสูตรตรงตามความต้องการของตลาด ก็จะมีนักศึกษาเข้ามาเรียนเพิ่มเติม ขณะเดียวกันต้องมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชี่ยล ถึงนักศึกษาที่จบไปแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างไรบ้าง และสถานประกอบการที่รองรับนักศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิตมีที่ใดบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อนักศึกษาที่ทำงานในสถานประกอบการ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันควรมีการจัดดำเนินการเรื่องเครดิตแบงค์ หรือธนาคารสะสมหน่วยกิต คลังสะสมหน่วยกิต รวมทั้งการทำหลักสูตรระยะสั้น ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนระดับมัธยม ที่จะเป็นพื้นฐานในการเข้ามาศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา และการสร้างเครือข่าย ทางการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเอกชน
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์