สานพระราชดำริสู่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ พลิกฟื้นผืนดิน สู่ความยั่งยืน
เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ซึ่งประสบกับปัญหาการประกอบอาชีพเกษตร เนื่องจากดินที่นี่เป็นดินดาน ทำการเกษตรไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ ในปี พ.ศ. 2537 โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้จัดตั้งขึ้นในตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีการดำเนินงานในลักษณะ One Stop Service เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการรวมเอาหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน เน้นการนำความรู้และเทคนิคทางการเกษตรไปถ่ายถอดให้กับเกษตรกร โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน
นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ว่าได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์มาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงาน โดยเน้นให้ราษฎรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ซึ่งนอกจากจะมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารแล้ว ทางโครงการฯ ยังได้ส่งเสริมช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยกิจกรรมที่ให้การสนับสนุน อาทิ ด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้ และศิลปาชีพ สำหรับด้านการเกษตร มีการส่งเสริมการปลูกยางพารา และการปลูกกาแฟแซมในสวนยางพารา ทั้งสายพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) และอราบิก้า (Arabica) ซึ่งประสบผลสำเร็จจนสามารถสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้ ถือเป็นการเพิ่มรายได้ในสภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำ ส่งเสริมการปลูกมะนาวนอกฤดู เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยประสบปัญหามะนาวขาดแคลนในหน้าแล้ง ปัจจุบันชาวบ้านสามารถปลูกมะนาวได้ตลอดทั้งปีด้วยวิธีการปลูกมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร 1 ในบ่อซีเมนต์ อีกหนึ่งผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจได้แก่ การส่งเสริมการปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งทางโครงการฯ ได้ร่วมกับทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ รับรองทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้เป็นสินค้าที่ได้การรับรอง GI (Geographical Indications) โดยทุเรียนชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติที่เข้มข้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเกิดจากการปลูกในดินที่เกิดจากการสลายตัวของลาวา (Lava) นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้มีส่วนร่วมในการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ทำให้สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ และได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ เพื่อให้ผลผลิตของตนเข้าเกณฑ์ตามมาตรฐาน GMP และ GI กลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่เฉพาะตัวของจังหวัดศรีสะเกษที่น่าจับตามองและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ในด้านการรักษาทรัพยากรป่าไม้ โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่าในสวนหลังบ้าน โดยโครงการฯ ได้ผลิตกล้าไม้วงศ์ยางนา ตะเคียน ที่หยอดเชื้อเห็ดเข้าไปในกล้าไม้ทุกต้นก่อนที่จะแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เป็นกุศโลบายที่ทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตจากการเพาะเห็ดมาบริโภคหรือจำหน่ายระหว่างรอต้นไม้เจริญเติบโต นับเป็นการแก้ปัญหาการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าของชาวบ้านได้อย่างแยบยล
สำหรับด้านศิลปาชีพ ทางโครงการฯ ได้ส่งเสริมเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งดูแลโดยกรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา จังหวัดยโสธร ที่สามารถนำมาถักทอเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีสินค้า OTOP ที่ทางโครงการฯ ให้การสนับสนุน ได้แก่ การสอนทำปลาส้มเพื่อจำหน่าย ที่ต่อยอดจากโครงการหมู่บ้านประมง ประมงโรงเรียน ซึ่งดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำศรีสะเกษ โดยมีการปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำ รวมทั้งแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่นำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มาศึกษาดูงานที่โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร งานศิลปาชีพ หรือด้านการประมง ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตไปจนถึงการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 นี้ ทางโครงการฯ ได้ให้คำแนะนำสำหรับการสร้างแหล่งอาหาร โดยนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นพื้นฐาน เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ยิ่งในสภาวะที่ทุกคนควรรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เช่นนี้ หากแต่ละครัวเรือนมีอาหาร มีที่อยู่อาศัย ที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ก็จะช่วยให้สามารถลดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะไปทำงานในพื้นที่อื่นได้
จากเดิมที่ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น ต้องการเห็ด ต้องการผัก มาประกอบอาหารก็จะเข้าไปเก็บเอาจากในป่า ซึ่งอาจเป็นการบุกรุกทำลายป่าไม้โดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อหลังจากโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อตั้งขึ้นและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 25 ปี ในตอนนี้ชาวบ้านได้เรียนรู้การปลูกพืชในพื้นที่ของตนเอง ส่งผลให้มีอาหารเพียงพอต่อความต้องการในครัวเรือน และยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองไปพร้อม ๆ กับการรักษาป่าไม้ให้คงอยู่สืบไป ถือเป็นผลสำเร็จในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติไปในคราเดียวกัน เมื่อชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในถิ่นฐานของตนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ก็จะช่วยลดการอพยพของประชากรที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ชุมชนเมืองได้อีกทางหนึ่ง ส่งผลให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังผลให้เป็นรั้วที่มั่นคงและแข็งแรงให้กับประเทศไทยต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ทางเว็บไซต์ของโครงการฯ www.spkphusing.org และ Facebook Page: ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ทางโทรศัพท์ 045 608 119