องคมนตรี ติดตามโครงการพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 จังหวัดเพชรบุรี
วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังวัดไร่มะม่วงพระราชดำรัส ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โอกาสนี้ องคมนตรีรับฟังรายงานสรุปการดำเนินงานของวัดไร่มะม่วงพระราชดำรัส และเป็นประธานในพิธีเททองหล่อยอดพระปรางค์ 4 มุมพระอุโบสถ จากนั้น เยี่ยมชมนิทรรศการภายในอุโบสถ เมื่อปี 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกต้นมะม่วงพันธุ์อกร่องทอง ณ บริเวณวัดดอนขุนห้วย ในการนี้ หลวงพ่อเนียม ได้เข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลถาม เพื่อขอให้พระราชทานชื่อวัดให้เป็นสิริมงคล จึงมีพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้าหรือโยม (ไม่แน่ชัด) เพิ่งปลูกต้นมะม่วงเสร็จเดี๋ยวนี้ ก็ให้ชื่อวัดไร่มะม่วงนะหลวงพ่อ” ดังนั้น คณะภิกษุสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเรียกชื่อวัดว่า “วัดไร่มะม่วงพระราชดำรัส” จนถึงปัจจุบัน
หลังจาก หลวงพ่อเนียม สุทันโต ได้มรณภาพ คณะชาวบ้านดอนขุนห้วยได้กราบอาราธนาพระครูภาวนาวัชราภรณ์ จากวัดห้วยทรายใต้ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พระครูภาวนาวัชราภรณ์ ได้พบเห็นสถานที่ซึ่งมีป่าเขาร่มเย็น เกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี จึงเห็นสมควรให้เป็นสถานที่ศึกษาปฏิบัติธรรม และดำเนินการก่อสร้างพัฒนาศาลาสถานที่พักภิกษุสงฆ์ สามเณร อุโบสถ สถานที่ปฏิบัติธรรม สวนเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนโครงการป่าเปียกตามรอยพระยุคลบาท รัชกาลที่ 9 (ปิดทองหลังพระ) ปัจจุบันมีพื้นที่ขนาด 14 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี
จากนั้น องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เบอร์ 5 และเปิดป้ายโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เบอร์ 5 ซึ่งวัดไร่มะม่วงพระราชดำรัส อยู่ในพื้นที่ของโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ได้จัดทำโครงการป่าเปียกตามรอยพระยุคลบาท รัชกาลที่ 9 (ปิดทองหลังพระ) บริเวณพื้นที่เขามดแดงที่ตั้งอยู่ด้านหลังของวัด โดยเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งอาหารของชุมชน ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งบริเวณดังกล่าวได้เกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำ ทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการดูแลโครงการป่าเปียก ฯ วัดไร่มะม่วงพระราชดำรัส จึงใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าส่งน้ำขึ้นไปบนเขามดแดง กักเก็บน้ำไว้ในแหล่งน้ำและปล่อยลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่า เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟป่าในฤดูแล้ง จึงมีภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในการดำเนินงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงให้การสนับสนุนภายใต้ชื่อโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เบอร์ 5 สำหรับใช้ในระบบสูบน้ำในการดูแลโครงการป่าเปียกฯ และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวัด สำนักงาน กปร. ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2568 ให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ เพื่อดำเนินการจัดซื้อเครื่องเป่าใบไม้ จำนวน 10 เครื่อง และจะส่งมอบครุภัณฑ์ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เป็นผู้ดูแลรักษา สำหรับใช้ประโยชน์ภายในวัดไร่มะม่วงพระราชดำรัสฯ
ช่วงบ่าย นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. นำคณะฯ เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 รายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังยาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่าคอย และผลการดำเนินงานโครงการธนาคารน้ำ การบริหารจัดการกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จังหวัดเพชรบุรี จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อจัดให้ราษฎรที่เคยอาศัยอยู่ในนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชรเข้าทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ โดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินงานในลักษณะหมู่บ้านสหกรณ์จัดตั้งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในปี 2519 มีการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมโดยใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีพื้นที่ติดกับโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย เพื่อให้ลูกหลานของสมาชิกในโครงการฯ และราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรีที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้เข้ามาอยู่อาศัยและจัดตั้งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 พื้นที่ทั้งหมด 3,990 ไร่ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1 ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ เนื้อที่ 2,581 ไร่ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง เนื้อที่ 1,409 ไร่
โดยมีผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ด้านสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจสินเชื่อ 2) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (ปุ๋ยเคมี เคมีเกษตร อาหารสัตว์ ข้าวโพด และข้าวสาร) 3) ธุรกิจรวบรวมผลิตผล (สับปะรด) 4) ธุรกิจสับปะรดปัตตาเวียและแกะตา (แปลงสาธิตของเกษตรกร) และ 5) ธุรกิจแปรรูปน้ำดื่ม ซึ่งผลการประเมินมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์พบว่า ผ่านมาตรฐานระดับดีเลิศ (A) และผลการจัดระดับชั้นสหกรณ์อยู่ในระดับ 2
ด้านการชลประทาน กรมชลประทานดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำ จำนวน 3 แห่ง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2522 ความจุ 810,000 ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่ชุมชนดอนขุนห้วย 1 โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังยาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2522 ความจุ 265,000 ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่ชุมชนดอนขุนห้วย 2 และคลองส่งน้ำสายหัวหิน (คลองส่งน้ำสาย 1 ขวา – สายใหญ่ 1) สูบน้ำมายังสระเก็บน้ำในพื้นที่โครงการฯ และกระจายน้ำสู่แปลงไร่นาของเกษตรกรด้วยระบบกระจายน้ำแบบรางน้ำเปิด โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคอยและราษฎรร่วมกันดำเนินการจัดทำธนาคารน้ำ (Water Bank) ที่เชื่อมต่อมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยวังยาวและลำห้วยยาง แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ ภายใต้ข้อจำกัดของสภาพพื้นที่เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านการส่งเสริมอาชีพ มีการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่แบบกรงตับ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มสมุนไพรแปรรูป กลุ่มผู้ปลูกชมพู่ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเกษตรกรแบบผสมผสาน กลุ่มทำไร่ขนุนและการแปรรูป กลุ่มยุวชนผู้เลี้ยงปลาสวยงาม กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมพันธุ์จินตหรา กลุ่มผู้เลี้ยงโค กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ และกลุ่มผู้ทำกระดาษสาจากใบสับปะรด
ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2 เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งแรกของอำเภอท่ายาง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 11 บ้านวังพลับ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำภายใต้ข้อจำกัด และการส่งเสริมอาชีพในชุมชนให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.