สภาเอสเอ็มอีและกว่า 50 ภาคีเครือข่ายรวมพลังผลักดันพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เปิดโอกาสให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการ และให้เอสเอ็มอีมีตัวตนมีโครงสร้างในการบริหารจัดการอย่างสมบูรณ์
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) ได้จัดการประชุมใหญ่สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ประจำปี 2567 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเป็นเกียรติแก่สมาชิกและภาคีเครือข่ายของสภาฯ เรื่อง “ทิศทางการพัฒนา SMEs ของกระทรวงอุตสาหกรรม” หลังจากนั้นนายสุปรีย์ ทองเพชรประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความซ้ำซ้อนกันทั้งในเรื่องของงบประมาณและหน่วยงานดำเนินการ
สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยได้มีความพยายามในการผลักดันพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย พ.ศ. เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน มีรูปธรรมและเป็นการส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานดำเนินการของภาครัฐให้เกิดความสะดวกและมีการบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จ สภาฯ จึงได้อาศัยวาระของการประชุมใหญ่นี้รวมพลัง เพื่อเป็นการแสดงเจตนาและแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่ฐานราก ทำให้นโยบายความช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐสามารถกระทำได้อย่างทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่จัดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ถึง 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด หรือมากกว่า 3 ล้านราย แต่เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีเพียง 1 ล้านรายเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือเป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่มีความสำคัญในการเชื่อมต่อธุรกิจขนาดใหญ่เข้ากับประชาชนที่ฐานราก เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีส่วนในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศไม่น้อยกว่า 55% (หากรวมเข้ากับผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษีอาจมีมูลค่ามากกว่า 60% ของ GDP เลยทีเดียว)
ทั้งนี้การจัดตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการมีตัวตน มีโครงสร้างในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง สำหรับเวลาในการดำเนินการร่างจะแล้วเสร็จใน 3 เดือนหลังจากนั้นภาคีเครือข่ายจะเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป