ไข้เลือดออก-ไข้ซิการ์ นายก อบจ. นายก อบต.หนองปลิง ร่วมประชุมรับฟังรายงานแนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้ซิการ์
ไข้เลือดออก-ไข้ซิการ์ นายก อบจ. นายก อบต.หนองปลิง ร่วมประชุมรับฟังรายงานแนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้ซิการ์
พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายก อบจ.นครสวรรค์ นางณภัทร สื่อสุนทรานนท์ รองปลัด อบจ.นครสวรรค์ นายสมชาย ยุกติรัตน์ นายก อบต.หนองปลิง ผู้อำนวยการ รพ.สต. หัวหน้าฝ่าย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมรับฟังรายงานพร้อมร่วมกันหารือแนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้ซิการ์ในช่วงฤดูฝน ณ ห้องศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ (CCOC) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์
กองสาธารณสุข ฝ่ายป้องกันและควบคุมโรค ได้รายงาน ผลการควบคุมโรคในพื้นที่ที่รับผิดชอบพร้อมทั้งรายงานมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย การสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายบ้านผู้ป่วยและรัศมี 100 เมตร โดยทีม SRRT ของหน่วยบริการและ อสม.ในพื้นที่ จำนวน 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน พร้อมควบคู่กับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการใช้ทรายอะเบทเพื่อป้องกันการวางไข่ของยุงลายในภาชนะเก็บกักน้ำต่างๆ รวมทั้งแนะนำการใช้ปลากินลูกน้ำปล่อยในภาชนะหรือแหล่งน้ำขังต่างๆ การพ่นสารเคมีในบ้านผู้ป่วยและรอบบ้านผู้ป่วย ร่วมกับทีม SRRT จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 0,3,และ7 วัน พร้อมดำเนินการแนะนำและส่งมอบยาทากันยุงในรัศมี 100 เมตรรอบบ้านผู้ป่วย เน้นผู้ป่วยทาครีมทากันยุงต่อเนื่อง 14 วัน และติดต่อประสานงานศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนรถยนต์ติดเครื่องพ่น ULV ดำเนินการพ่นยาในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร ในเขตควบคุมอีกด้วย มีรายงานว่ามีการพบผู้ป่วยไข้เลือดออกและพบไข้ซิการ์ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์แล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามผล การหาวิธีควบคุมโรค การสอบสวนโรค รวมทั้งป้องกันการแพร่ระบาดด้วย ต้องใช้วิธีการปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้นในการดำเนินการ แต่ยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนน้อยมาก อาจจะยังไม่เข้าใจและทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากมีการแพร่ระบาดของโรค
นายกอบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า "ในอนาคตเราจะนำ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการนำข้อมูลสำรวจพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาประมวลผลและนำมาเป็นฐานข้อมูลใน Big Data ซึ่งข้อมูลการรายงานผลต่างๆเหล่านี้จะเป็นการนำเข้าข้อมูล dashboard และข้อมูล Big Data ให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีโรคระบาดเกิดขึ้นก็จะมีข้อมูลประวัติผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของรพ.สต. และแนวทางการพัฒนาระบบนี้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนในอนาคต"
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์