สำนักงาน​ กปร. นำสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ​ เยี่ยมชมการขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ​ ในหลวงรัชกาลที่ 10  

         สำนักงาน​ กปร. นำสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ​ เยี่ยมชมการขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ​ ในหลวงรัชกาลที่ 10

              วันพุธที่​ 7 สิงหาคม 2567​ สำนักงาน กปร. ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่าง​ ๆ ที่เข้าร่วมโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ประจำปี 2567 เยี่ยมชมการขยายผลการดำเนินงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ (อพ.สธ.) ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นวันที่สอง ประกอบด้วย โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การเติมเชื้อเห็ดป่าในกล้าไม้วงศ์ยาง เพื่อลดการพึ่งพิงป่า เพิ่มแหล่งอาหาร สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน

              จากนั้น​ ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมการขยายผล ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านป่าไม้บ้านนายทรงสิทธิ์ หาญมนตรี บ้านหนองดินดำ ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร โดยนายทรงสิทธิ์ หาญมนตรี อายุ 45 ปี เกษตรกรขยายผลจากงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จนเป็นศูนย์เรียนรู้ของบ้านโนนสูง ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ได้มีการฟื้นฟูและบริหารจัดการพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนา​ ที่ไม่มีความสมบูรณ์ถูกทิ้งร้าง กลับมาพลิกฟื้นเป็นป่าและดินให้มีความสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไม้ 5 ระดับ ทำให้มีป่าที่สมบูรณ์และมีน้ำสำหรับใช้ในแปลงเพาะปลูกตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด “ป่า สร้างน้ำ สร้างอาชีพ” ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ด้านป่าไม้ มาปรับใช้ในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีความหลากหลายและสมบูรณ์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มาปลูก ประกอบด้วย ไม้กินได้ ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจหรือไม้สร้างบ้าน ปลูกแซมด้วยไผ่เพื่อเก็บหน่อมาบริโภคและขาย ส่วนลำไผ่ตัดขายมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปลูกผักหวานป่าแซมระหว่างไม้ยืนต้นแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถเก็บยอดผักหวานป่าขายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังขายต้นผักหวานป่าแบบขุดล้อม ได้ราคาถึงต้นละ 2,500 – 3,000  บาท และผักหวานป่าเป็นรายได้หลักในปัจจุบัน  ส่วนกิ่งไม้ทุกชนิดในพื้นที่ภายหลังตัดแต่งกิ่งออกจะนำมาเผาถ่าน และผลิตน้ำส้มควันไม้ นอกจากนี้ได้นำความรู้การเพาะเชื้อเห็ดป่าในกล้าไม้วงศ์ยางมาเพาะต้นกล้าไม้แล้วปลูกในพื้นที่ ทำให้เกิดเห็ดหลากหลายชนิดเป็นจำนวนมาก เก็บได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม แต่ละปีขายได้กว่า 10,000 บาท  

 

             ต่อจากนั้น​ คณะได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีนายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของโครงการห้วยทรายขมิ้นฯ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมงานขยายผลสู่ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ณ แปลงเกษตรนายเรืองวิทย์ โพธ์ศรี  บ้านห้วยทราย ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร 

              อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น สร้างเมื่อปี 2496 แล้วเสร็จ ในปี 2499 เดิมมีความจุ 2.4 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 บริเวณพื้นที่ จ.สกลนคร ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน​ “ตาลัส” และ ในช่วงวันที่ 24-27 กรกฎาคม​ 2560 ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เซินกา” โดยในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ทำให้มีน้ำปริมาณมาก (ประมาณ 3.750 ล้าน ลบ.ม.) เอ่อล้นข้ามทำนบ​ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสำนักงาน กปร. รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหาย ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ พร้อมตรวจระบบอ่าง, สันเขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป จากพระราชดำริดังกล่าว สำนักงาน กปร. และกรมชลประทานได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ทำนบดินอ่างเก็บน้ำใหม่กว้าง 9 ม. สูง 11 ม. ยาว 1,165 เมตร อาคารท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย ขนาด 1.00 เมตร จำนวน 115 เมตร อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำฝั่งขวาพร้อมท่อระบายลงลำน้ำเดิมขนาด 1.20 เมตร จำนวน 95 เมตร ทำให้ราษฎรบ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 บ้านพังขว้างเหนือ หมู่ที่ 2 ต.พังขว้าง และบ้านขมิ้น หมู่ที่ 2 บ้านพาน หมู่ที่ 8 ต.ขมิ้น อ.เมือง จ.สกลนคร รวม 1,223 ครัวเรือน 4,584 คน มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ โดยส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้ง 1,000 ไร่ และฤดูฝน 3,000 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย ​ต่อมาเยี่ยมชมแปลงเกษตรต้นแบบกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ของนายเรืองวิทย์ โพธิ์ศรี หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเหตุการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นชำรุด ภายหลังจากได้รับการเยียวยาจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และเข้าไปศึกษาดูงานเพื่อการประกอบอาชีพที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำความรู้มาพลิกฟื้นพื้นที่ดินทำกินที่ได้รับความเสียหาย โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ พร้อมได้รับปัจจัยการผลิตจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เพื่อเป็นการเริ่มต้นในการประกอบอาชีพบนพื้นที่ 5 ไร่ 30 ตารางวา ในรูปแบบเกษตรผสมผสาน มีการปลูกไม้ผล อาทิ กล้วย มะละกอ ฝรั่ง พืชผักสวนครัว มีถั่วฝักยาว ฟักทอง พริก มะเขือ เลี้ยงเป็ด ไก่ และเลี้ยงปลา ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุก นอกจากนี้ยังเพาะเห็ดขาย ปัจจุบันมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพในหลายด้าน นับตั้งแต่การฉีดวัคซีนไก่ การผลิตอาหารไก่และปลาจากวัสดุที่มีในแปลงปลูกแบบครบวงจร ทำให้มีรายได้หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี ทำให้ชีวิตมีความมั่นคงและยั่งยืนขึ้น

#โครงการสื่อมวลชนสัญจรสืบสานพระราชดำริ2567
#ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
#สำนักงานกปร