บทความเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง พระเมตตาสร้างสุขให้ปวงประชา พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาให้ปวงชนชาวไทย
พระเมตตาสร้างแหล่งน้ำทำกินให้ราษฎร
“รัชกาลที่10 ให้อยู่ยืนนาน เพราะถ้าไม่มีในหลวง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ผมก็ไม่มีที่ทำมาหากิน เพราะว่าได้พระเจ้าแผ่นดินเนี่ย ก็ให้ทำมาหากิน ไม่ได้เรียกสิทธิ์เรานี่ ไม่ได้ให้เรียกสิทธิ์เราว่าไม่ให้ตรงนั้นไม่ให้ตรงนี้ พระองค์ก็ให้ทำมาหากิน ก็มันเป็นคุณงามความดีของพระองค์ ผมก็อยากให้พระองค์อยู่เย็นเป็นสุข”บุญมี ฉลวงศรีเมือง เกษตรกรบ้านไทยประจัน ความสุขของราษฎรบ้านไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนึ่งในห้าอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้ช่วยเหลือด้านแหล่งน้ำเพื่อทำกินแก่ราษฎร ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยศเป็นมกุฎราชกุมาร ในปี 2534 โดยอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง สร้างแล้วเสร็จในระหว่างปี 2538-2542 สายน้ำพระราชหฤทัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยเฉพาะโครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำ 189 โครงการ (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2567)
พระเมตตาพัฒนาหมู่บ้านเพื่อความมั่นคง
“ดีใจค่ะ หลังจากที่เรามีแหล่งน้ำ มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าหากไม่มีพระองค์ท่านเสด็จมาดูพวกเราในวันนั้น ชาวบ้านกูแบสีราก็คงไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากค่ะ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องถนนหนทาง การคมนาคม เรื่องไฟฟ้าจากที่แต่ก่อนไฟฟ้าไม่มี ตอนนี้ก็มีไฟฟ้าใช้ค่ะ” นางดวง ช่วยเมือง เกษตรกร ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
ชีวิตที่ดีขึ้นของชาวกูแบสีรา เป็นผลจากพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ชายแดนซึ่งมีปัญหาด้านความมั่นคง จึงพระราชทานแนวพระราชดำริมาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมศึกษาภาพรวมทั้งระบบเพื่อทยอยแก้ไขปัญหาทีละส่วน กระทั่งปัจจุบันราษฎรมีที่ดินทำกิน สามารถทำการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและปัญหาน้ำท่วมลดลง มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด อีกทั้งยังมีอาชีพเสริมที่พัฒนาผลผลิตเป็นสินค้า OTOP ทำให้ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้สร้างรายได้เสริมให้สมาชิกคนละ 3,000 บาทต่อเดือน
พระเมตตาแก้ปัญหาน้ำให้ราษฎรอย่างยั่งยืน
อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้รับการฟื้นฟูภายหลังจากประสบภัยพิบัติจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากในปี 2560 จนไม่สามารถรองรับน้ำฝนที่สะสมได้ ไหลบ่าลงท่วมพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร ราษฎรได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนไร่นาเสียหาย
ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชกระแสให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) ประสานทุกหน่วยงาน ช่วยเหลือปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแห่งนี้โดยเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกของราษฎร
“เมื่อก่อนประสบปัญหาเรื่องน้ำใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน พอถึงฤดูทำนา ฝนมาช้า ไม่มาตามฤดูกาลหรือมาน้อย การทำนาก็จะยากต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ปลูกอะไรก็ไม่ได้ หลังจากปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปมาก มีน้ำทำนา ทำให้ข้าวออกรวงเมล็ดไม่ลีบเหมือนก่อนที่ให้ผลผลิตข้าว 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ ตอนนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประมาณ 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีน้ำอุปโภคบริโภค สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องลำบากเหมือนแต่ก่อน” นายอรุณ แก้วชุมภู เกษตรกรตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ต่อมาได้มีพระราชกระแสผ่านทางกองกิจการในพระองค์ แจ้งตามหนังสือกองกิจการในพระองค์ 904 ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชกระแส ดังนี้ “ ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญและน่าจะตรวจระบบ อ่าง เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป” พระเมตตาช่วยเหลือราษฎรตามฎีกา
ความเดือดร้อนของราษฎรเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความช่วยเหลือตามที่ราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา ดังเช่น ความทุกข์ยากของราษฎร ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเขตอับน้ำฝน เกิดภาวะภัยแล้งซ้ำซาก เกษตรกรทำนาปีได้เพียงครั้งเดียว และเพาะปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หรือเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว แพะ แต่บางปีเกิดภาวะแห้งแล้งจนปลูกข้าวไม่สำเร็จ พืชผลต่างๆได้รับความเสียหาย จึงถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหนองหญ้ากาด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
“ต้องขอบพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 10 และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่เข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ โดยรับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหนองหญ้ากาด ตำบลห้วยกระเจา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้นะครับ มีน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว มีเทวดามาโปรดเราแล้วครับ ต้องขอขอบคุณทุกพระองค์ท่านครับ”นายประโคมและนายประคูณ สาระศาลิน ราษฎร ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
ความผาสุกของราษฎร ก่อเกิดขึ้นได้ด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือราษฎรอย่างต่อเนื่อง สร้างระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สร้างปัจจัยการผลิตที่จะสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ให้ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น สร้างระบบสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพอนามัยราษฎรให้แข็งแรงสมบูรณ์ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
สำนักงาน กปร.