พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรม จากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว    

         พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรม จากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว  มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด 

         วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.ณ ห้องพระรามราชานุสรณ์ ชั้น ๓ สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันศุกร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายรัตติกูล  ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้มาลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้ง
จากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ณ ห้องพระรามราชานุสรณ์ ชั้น ๓ สำนักงาน กปร. พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้ ความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว เพื่อนำพลังงานความเย็นที่ได้จากระบวนการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG : ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพโดยการลดอุณหภูมิเหลือ -๑๖๐°C จนกลายเป็นของเหลว) โดยนำความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรสภาพของ LNG (REGASFICATION PROCESS) มาใช้ในระบบการผลิตไม้ดอกและพืชเมืองหนาว เพื่อพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชที่มีศักยภาพสูง มาพัฒนาต่อยอดด้านการเกษตร โดยนำมาทดลองใช้ในโรงเรือนผลิตพืช แบบ smart farming เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 
          โดยผลการวิจัย ในระยะที่ ๑ ตั้งแต่ ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๒ สามารถทำการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวได้ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ทิวลิป ดารารัตน์ และ ไฮเดรนเยีย โดย บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้นำองค์ความรู้มาใช้ในการผลิตพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ในปี ๒๕๖๒ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้จัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการใช้พลังงานความเย็นทางการเกษตร ภายในสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ ๑ ในตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นแหล่งผลิตไม้เมืองหนาว โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์” หมายถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาและขยายพันธุ์พืช เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จึงถือเป็นก้าวแรก ที่สำคัญของการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว โดยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว เป็นการยกระดับการผลิตและศักยภาพกำลังผลิตพืชเมืองหนาวของประเทศไทย ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ให้แก่ชุมชน เกษตรกร นิสิต และนักศึกษา ทั้งในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ
และในระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๕) ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวได้มีการดำเนินการต่อยอดองค์ความรู้ และพัฒนาการขยายพันธุ์พืช ขยายผลการดำเนินงานจากการวิจัย และพัฒนาด้านการขยายพันธุ์พืชของศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ ได้มีการวิจัยพืชเมืองหนาวชนิดอื่นเพิ่มเติม และประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชเมืองหนาว รวมถึงการเพาะเลี้ยงและการปลูกวาซาบิในไทย จึงได้พัฒนาไปสู่ การจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืช และ จัดสร้างสร้างอาคารโดมสำหรับจัดแสดงป่าฝนและพืชเมืองหนาว ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ  "ศูนย์เลิศพนานุรักษ์" อันหมายถึง ศูนย์เรียนรู้อันเป็นเลิศด้านการอนุรักษ์ป่า และชื่ออาคารจัดแสดงว่า "อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา" หมายถึง อาคารจัดแสดงพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ 
          ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด ศูนย์เลิศพนานุรักษ์ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง อย่างเป็นทางการและสำหรับในระยะที่ ๓ ปี ๒๕๖๗-๒๕๗๐ นี้ จะเป็นการสานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาต่อยอดความร่วมมือ และสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีนี้มาใช้ในภาคเกษตรไทยให้หลากหลาย โดยเฉพาะการผลิตพืชเกษตรที่มีมูลค่าสูง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ปลูกในประเทศ

สำนักงาน กปร. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ต่างมุ่งหวัง เป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานร่วมกันในระยะที่ ๓ ครั้งนี้จะเป็นการต่อยอด การพัฒนาความร่วมมือ และสนับสนุน สามารถสร้างนวัตกรรม และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร จนสามารถมีอาชีพมีรายได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ปลูกได้อย่างแท้จริงต่อไป  อีกทั้งเป็นการยกระดับ การผลิตและกำลังผลิตพืชเมืองหนาวของประเทศไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก สมดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงจัดตั้งศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ขึ้น เพื่อพัฒนาและขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และเป็นการสืบสานตาม พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ