นายอำเภอกระนวน พร้อมผู้นำชุมชน เข้าเยี่ยมติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กำลังใจผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด   

 
          นายอำเภอกระนวน พร้อมผู้นำชุมชน เข้าเยี่ยมติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กำลังใจผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดและครอบครัวกลับสู่ชุมชน และปฏิบัติการ Re X-ray เพื่อค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยในชุมชน

        นายอำเภอกระนวน พร้อมผู้นำชุมชน เข้าเยี่ยมติดตามพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กำลังใจผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดและครอบครัวกลับสู่ชุมชน และปฏิบัติการ Re X-ray เพื่อค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยในชุมชน

         วันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ทรัพย์ศิลาทอง สาธารณสุขอำเภอกระนวน นายธวัชชัย ทวีผล ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ผู้นำชุมชน และ สมาชิก อส. ร่วมกันเข้าเยี่ยมเยียนติดตามความเป็นอยู่ของผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูและครอบครัวที่เคยเข้ามาอยู่ที่ CI อำเภอกระนวน และ ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม มินิธัญญารักษ์ ซึ่งได้กลับคืนสู่ชุมชน โดยพบว่าหลายคนสามารถใช้ชีวิตในชุมชนแบบปกติไม่กลับไปเสพซ้ำ หรือ บางรายได้ย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการเลือกปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับไปอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก ซึ่งหากพบว่ามีการเสพยาเสพติดซ้ำ จะดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้ากระบวนการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งอำเภอกระนวนมีรูปแบบมินิธัญญารักษ์ ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) กองร้อย อส.อำเภอกระนวน และอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบ CI ที่วัดเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะของผู้เสพ/ผู้ป่วยแต่ละบุคคล หรือ หากพบว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิต จะนำตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย

          นอกจากนี้ ในคราวเดียวกัน อำเภอกระนวนยังร่วมกับชุมชนดำเนินการ Re X-ray เพื่อค้นหาคัดกรองผู้เสพ/ผู้ป่วยในชุมชน ตามฐานข้อมูลของกรมการปกครอง และเบาะแสการสืบสวนข่าว โดยนำเข้าระบบศูนย์คัดกรองเพื่อนำเข้าฟื้นฟูรักษาที่ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ CI เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามการจำแนกลักษณะของผู้เสพ/ผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรูปแบบดำเนินการโดยใช้ “แนวทางบวร“ หลักธรรมทางศาสนาในการหล่อหลอมจิตใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม การพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะอาชีพ โดยในระหว่างพักฟื้นอยู่ใน CI ได้ประสานการจัดหาอาชีพเพื่อให้มีทักษะและรายได้ในการดำรงชีพด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน โดยร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน รวมทั้ง เครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน ชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง