ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด  ถกเข้ม!ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผนึกกำลังถกแผนแก้ปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน  

        ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด  ถกเข้ม!ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผนึกกำลังถกแผนแก้ปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน  (1 มิ.ย. - 31 ส.ค. 67)  ย้ำบูรณาการความร่วมมือทุกฝ่าย ปลุกชุมชนเข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปราม สกัดกั้น และยึดทรัพย์ผู้ค้า
         วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นายทรงพล  ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ราชบุรี นายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด และหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม 
        นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา  ได้เดินทางไปร่วมประชุมชี้แจงปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน  (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) พร้อมด้วย ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้บริหาร สำนักงาน ปปส. หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยรัฐบาลให้ดำเนินการในพื้นที่เร่งด่วน 25 จังหวัด รัฐบาล และต้องการลดความรุนแรงของปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว โดยต้องเห็นผลในกำหนดระยะเวลา 90 วัน และกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เด็ดขาด และเห็นผลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่สีแดงที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง 25 จังหวัด รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติสำเร็จตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็จะมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องและละเลยในการปฏิบัติ
          ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทย และจังหวัดร้อยเอ็ดของเรา ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการสรรพกำลัง และร่วมกันวางแผนเพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดเหล่านี้ให้หมดไป สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายในการมุ่งลดความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเน้นกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ รวมถึงมีการขยายการมีส่วนร่วมจากชุมชน ซึ่งความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางในการขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมนำหลักการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และนำตัวผู้ค้าหรือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาดำเนินคดี ตลอดจนยึดทรัพย์ที่ผิดกฎหมาย จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้กําหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระสําคัญเร่งด่วนของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุน และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย แต่จากผลการประเมินสภาพ ปัญหายาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งจากการ RE X-ray ค้นหาผู้ติดยาในระดับพื้นที่ ปรากฏว่า ยังมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหลายพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดได้กําหนดแผนงานและแนวทางดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้น การป้องกันยาเสพติดในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมเป็นรูปธรรมการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล มีการสร้างกระแสสังคมให้เกิดการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการป้องกัน ยาเสพติด เสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อป้องกันประชากรกลุ่มเสียงให้ปลอดภัย จากยาเสพติด รวมถึงการลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยกําหนดพื้นที่เป้าหมาย แหล่งแพร่ระบาดรุนแรง เพื่อปราบปรามผู้ค้า และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 
 ///
คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ
ชาติ มหาชน ศูนย์ข่าวทีวีประชาชนออนไลน์/รายงาน