องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์   

        องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเขื่อนปราณบุรี ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามการดำเนินโครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำ โดยรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนปราณบุรี และแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
 โดยองคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ เสนอให้ใช้พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นอุทยานทางน้ำเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแนะนำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมทางหลวงช่วงฤดูน้ำหลากด้วยการขยายขนาดสะพาน เพื่อรองรับการระบายน้ำมากขึ้น

           จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เยี่ยมสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ และบริเวณโดยรอบของเขื่อนปราณบุรี ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน ลักษณะโครงการประกอบด้วย เขื่อนดินชนิด (zone type)  ปริมาณน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด 490 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่ระดับน้ำเก็บกัก 347 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำที่ระดับน้ำต่ำสุด 17.59 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการฯ ประมาณ 212,175 ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ 144,000 ไร่ และสามารถผันน้ำลงแม่น้ำปราณบุรี เพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรทั้งสองฝั่งแม่น้ำปราณบุรี ทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนปราณบุรี สามารถปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกบริเวณทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นดินเค็มให้ทำการเพาะปลูกได้ ตลอดจนช่วยส่งเสริมการคมนาคมทางบกในเขตโครงการฯ ให้มีความสะดวก รวดเร็วโดยก่อสร้างถนนบนคันคลอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อสนับสนุนการประปาในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
 

          ช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการก่อสร้างระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำระยะต้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยรับฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โอกาสนี้ องคมนตรี ให้ข้อเสนอแนะแก่สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ และมอบกล้าไม้ผลพันธุ์ดีให้แก่ผู้แทนสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการก่อสร้างระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำระยะต้นฯ เกิดขึ้นตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ขอพระราชทานความช่วยเหลือเมื่อปี 2551 เนื่องจากราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการดังกล่าว ต่อมาในปี 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2561 กรมชลประทานได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำระยะต้นฯ  ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอัตรา 180 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ระบบท่อส่งน้ำ จุดกระจายน้ำ 61 แห่ง และถังเก็บน้ำ แล้วเสร็จในปี 2564 และได้ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการก่อสร้างระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำระยะต้นฯ มีสภาพตื้นเขิน เนื่องจากสร้างมาตั้งแต่ปี 2536 ทำให้มีดินตะกอนทับถม เก็บกักน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้านตามแผนที่วางไว้ และในการขุดลอกจำเป็นต้องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ เนื่องจากบริเวณพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (คีรีล้อม) ซึ่งมีอายุการขออนุญาต 30 ปี และหมดอายุในปี 2564 จึงต้องดำเนินการขออนุญาตใหม่

          โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาหาแนวทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องและในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งมีองคมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติให้เร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4, 5, 7, 8 ให้แล้วเสร็จ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ อบต.ทองมงคล แนะนำให้ใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านกระแสไฟฟ้าของสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งเร่งดำเนินการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่จากกรมป่าไม้ และดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบในช่วงฤดูแล้ง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำสนับสนุนการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป