ค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ ปี 67 เยาวชนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สมัครร่วมกิจกรรมคึกคัก ภายใต้แนวคิด “เยาวชนสานรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โอบอ้อมสังคมยั่งยืน”
เยาวชนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สมัครร่วมกิจกรรมคึกคัก
ภายใต้แนวคิด “เยาวชนสานรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โอบอ้อมสังคมยั่งยืน”
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) รุ่นที่ 14 ประจำปี 2567 ขึ้น ระหว่างวันที่ 22 - 27 เมษายน 2567 ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนสานรักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โอบอ้อมสังคมยั่งยืน” มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า 41 ทีม จาก 33 สถาบันทั่วประเทศ และได้รับการคัดเลือก 20 ทีม ทีมละ 4 คน รวม 80 คน
นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้เรียนรู้งานในโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรที่นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ พร้อมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เรียนรู้เทคนิคการถ่ายทอดเรื่องราว (Storytelling) การใช้ AI เพื่อค้นหาข้อมูล และดูงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ รวมถึงทัศนศึกษาดูงาน กิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม กิจกรรมสันทนาการที่เน้นให้เยาวชนได้รู้รักสามัคคี และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น
“หลังเข้าร่วมโครงการ เยาวชนจะได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายถอดบทเรียนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวดชิงทุนการศึกษาพร้อมโล่รางวัล นอกจากนี้ยังได้ร่วมเป็นเครือข่ายในการสืบสาน รักษา และต่อยอดขยายผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปสู่สถาบันการศึกษาตามภูมิลำเนาของตนเองต่อไป
โดยครั้งนี้มีเยาวชนจาก 4 ภาคทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการฯ ได้รับความนิยม มีการสมัครเข้ามาจำนวนมากถึง 40 ทีม โดยคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเหลือเพียง 20 ทีม” นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. กล่าว
ด้านนางสาวทิพย์อาภา ช่างแกะ จากวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการค่าย RDPB Camp รุ่นที่ 14 เผยว่า ได้จัดทำโครงการ “เยาวชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ วิทยาลัยชุมชนสระแก้วสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” เข้าประกวด เพราะเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ยึดหลักความพอเพียง จะทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการเข้าค่าย RDPB Camp จะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
“วันนี้ได้เรียนรู้ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 4 ฐาน ประทับใจมาก เช่น การทำผ้าย้อมครามที่สืบทอดมายาวนานทำให้มีเสื้อผ้าที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ต่อมาเป็นเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ทำกิน จัดการพื้นที่ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อมาก็เป็นในเรื่องของการประมง ดูการเลี้ยงปลานิลสัตว์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ฐานเรียนรู้ป่าไม้ ได้ทำพิมเสนน้ำในขวด รวมทั้งได้เรียนรู้ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเข้าใจที่ในหลวงราชการที่ 9 ตรัสว่า “ปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก” นั้นก็คือเราไม่ต้องไปยุ่งกับป่าปล่อยให้ป่าได้ดูแลตัวเอง ได้เจริญเติบโต ก็จะมีป่าที่สมบูรณ์ในอนาคเป็นต้น” นางสาวทิพย์อาภา ช่างแกะ กล่าว
ด้านนายบะฮ์รุตดีน ยีสา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสาร สาขาคอมพิวเตอร์และวิทยาการสารสนเทศเพื่อการจัดการ ชั้นปีที่ 2 เผยว่า การเข้าค่ายครั้งนี้ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง เทคโนโลยีการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจะนำไปต่อยอดในโครงการปลูกพืชไฮโดโปนิกส์โดยใช้ IoT (Internet of Things) ในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย คือ ใช้เซ็นเซอร์วัดแสง วัดอุณหภูมิ วัดความชื้น และควบคุมระบบการให้น้ำแก่พืช
“รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงพัฒนาซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการศึกษาและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งได้ความรู้และมีประโยชน์มากสำหรับนำไปต่อยอดในโครงการที่ตั้งใจจะทำต่อไป นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับความรู้และเข้าใจในเรื่องเหล่านี้จากค่ายในครั้งนี้ เป็นอย่างมาก อีกทั้งได้เพื่อนที่หลากหลาย ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภาษา ผมก็มีโอกาสสอนภาษามลายู ภาษาใต้ ให้เพื่อน ๆ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ภาษาเหนือ ภาษาอีสานจากเพื่อนที่มาเข้าค่าย" นายบะฮ์รุตดีน ยีสา กล่าว
สำหรับเยาวชนในโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ ปี 2567 ยังได้รับความรู้อีกมากมาย ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ อาทิ การบรรยาย Talk Show เรื่อง “ผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่อง “Secret of Storytelling” และ “AI ตัวช่วยสำคัญในการค้นหาข้อมูล”
นอกจากนี้ยังได้ทัศนศึกษาดูงานภาพรวมกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ศึกษาดูงานและเรียนรู้แนวทางและวิธีการในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติใช้ตามฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานเรียนรู้การส่งเสริมอาชีพ ในงานส่งเสริมอุตสาหกรรมครัวเรือนในกิจกรรม การย้อมคราม ฐานเรียนรู้เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง ฐานเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในงานป่าไม้ ฐานเกษตรนวัตกรรมและทฤษฎีใหม่ เป็นต้น รวมทั้งได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่ศูนย์เรียนรู้ของบ้านเกษตรกร กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “คนบันดาลใจ” ทัศนศึกษาดูงาน ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป (เต่างอย) และศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย รวมทั้งการร่วมกิจกรรมจิตอาสา ณ ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดสกลนคร เป็นต้น