กรมชลประทานร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมกลุ่มย่อยเวทีที่ 2พิจารณาทางเลือกโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยยาง   

           กรมชลประทานร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมกลุ่มย่อยเวทีที่ 2พิจารณาทางเลือกโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยยาง
           กรมชลประทานร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมกลุ่มย่อยเวทีที่ 2พิจารณาทางเลือกโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยยาง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์
           เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 30 เมษายน 2567 กรมชลประทานร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 พิจารณาทางเลือกโครงการ เวทีที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยยาง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา จังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาสนุ่น อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนางสาวคำพันธุ์ คำศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาสนุ่น กล่าวต้อนรับและเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วยนายสุรชัย ลายกาญจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาโครงการ นางสาวธนัฐภรณ์ พูนประสิทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้บรรยาย มีนางสาวนวลวรรณ ศักดาเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพิธีกรดำเนินรายการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการ สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนผู้ที่ให้ความสนใจ เข้าร่วมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จำนวน 74 คน

 
             จากปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักจังหวัดเพชรบูรณ์ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กอปรกับที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน พระราชดำริ เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ว่า “ควรพิจารณาวาง โครงการ เก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสัก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณมากและให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม” กรมชลประทาน จึงมีแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 19 โครงการ โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวิเชียรบุรี และอ่างเก็บน้ำ ห้วยน้ำย่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโครงการในแผนดังกล่าวด้วย และได้มอบหมายให้ บริษัท สามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยยาง และความเหมาะสมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา จังหวัดเพชรบูรณ์ มีระยะเวลาปฏิบัติงาน 540 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2568 
         โดยเวทีที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อรัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้รับเกียรติจากนายพีรวิชญ์ กลิ่นเทศ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อรัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและเป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วม จำนวน 81 คน สำหรับการเปิดประชุมเวทีกลุ่มย่อย เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ ตลอดจนแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายในด้านความต้องการ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาร่วมกัน 

 
            (คลิบเสียง นายสุรชัย ลายกาญจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาโครงการ และอนุพงศ์ ผดุงนึก วิศวกรชลประทานชำนาญการฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษาที่3 โครงการชลประทานเพชรบูรณ์)
ข่าว-ศักดิ์ชัย วัชรลิมปกรณ์//เพชรบูรณ์