6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย โดยมี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายจีระพงศ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาคมฯ และนายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นตัวแทนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี
นายชวรงค์ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เนื่องจากองค์กรวิชาชีพสื่อมีข้อห่วงใยและความวิตกกังวล ในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯ ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา องค์การสื่อมองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว
ที่ผ่านมาองค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอดทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง
นายอนุชา กล่าวยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เพียงขอให้เสนอข้อมูลบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่สร้างความหวาดระแวงหรือความกังวลในสังคม อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุดในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
ตามที่ท่านได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุข้อความว่า ในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” ตามความทราบแล้วนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ดังมีรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ได้ปรึกษาหารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน
3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลพร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก
ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด
ขอแสดงความนับถือ
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย