ความรู้เกี่ยวกับ เทศกาลสงกรานต์   เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ   

                      ความรู้เกี่ยวกับ เทศกาลสงกรานต์
         เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรีช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะตรงกับวันที่ 13, 14, และ 15 เมษายนของทุกปี ไทยได้มีการสืบสานและวิวัฒนาการ ประเพณีสงกรานต์จนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีความพิเศษ จนแม้แต่ชาวต่างชาติ ก็ยังให้ความสนใจและรู้จักประเพณีนี้เป็นอย่างดี เปิดตำนานสงกรานต์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์มาแต่สมัยโบราณว่า ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ 7 ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา 3 ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง 7 นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี ธิดาทั้ง 7 นางนั้น มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ทั้งสิ้น คือ วันอาทิตย์ จะชื่อ “ทุงษเทวี” ตรงกับจันทร์ ชื่อ “โคราดเทวี” ตรงกับวันอังคาร ชื่อ”รากษสเทวี” ” ตรงกับวันพุธ ชื่อ”มัณฑาเทวี” ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ “กิริณีเทวี” ตรงกับวันศุกร์ ชื่อ “กิมิทาเทวี” ตรงกับวันเสาร์ ชื่อ”มโหทรเทวี” ความหมายคำว่า “สงกรานต์”
“สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวขึ้น” หรือ “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้าย” หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เช่น เคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ ซึ่งจะเป็น เหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตาม      ก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันหมายถึงการก้าวขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้ เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์  โดยเป็นการนับทางสุริยคติ 
• วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง 
• วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” แปลว่า วันอยู่ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นราศี ตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว 
• วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่ 
ยูเนสโกขึ้นทะเบียนสงกรานต์ไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
จากความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ที่กล่าวมา องค์การยูเนสโก จึงประกาศให้ สงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ที่เสนอแผนการจัดงานมหาสงกรานต์ “World Water Festival – The Songkran Phenomenon” ตลอดทั้งเดือนเมษายน 2567 ปักหมุดให้เป็นเทศกาลที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก
การละเล่นครื้นเครง 4 ภาค
• ภาคกลาง
         การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ของภาคกลางมักเป็นการละเล่นพื้นเมือง หรือเรียกว่า กีฬาพื้นเมือง เช่น ชักเย่อ ขี่ม้าส่งเมือง มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย (ลูกช่วง) วิ่งเปี้ยว ลิงชิงหลัก และยังมีมหรสพต่าง ๆ เช่น การแสดงลิเก ลำตัด รำวง เป็นต้น
• ภาคใต้
การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ของภาคใต้ เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน มหรสพและการละเล่นที่นิยมกันมากคือ มโนห์รา หนังตะลุง มอญซ่อนผ้า อุบลูกไก่ ชักเย่อ สะบ้า จระเข้ฟาดหาง (หรือบางแห่งเรียกว่าฟาดทิง) ยับสาก เตย ปิดตา ลักซ่อน วัวชนและเชื้อยาหงส์ โดยการละเล่นทั้งหลายเหล่านี้ร่วมเรียกว่า "เล่นว่าง"
• ภาคเหนือ
          การละเล่นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันมาก คือ การเล่นรดน้ำปีใหม่ หรือดำหัว นอกจากนั้นยังมีการละเล่นมหรสพ และการละเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น สะบ้า การแสดงศิลปะฟ้อนรำ
• ภาคอีสาน
          การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ภาคอีสาน มีการจับกลุ่มเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่นสะบ้า มหรสพพื้นบ้าน เช่น  หมอลำ ในบริเวณลานวัด บางกลุ่มเซิ้งไปตามหมู่บ้านเพื่อเรี่ยไรปัจจัยไทยทานถวายวัด บางหมู่บ้านจะมีการเล่น เรือมตรด หรือ รำตรุษ
แนวทางปฏิบัติรับเทศกาลสงกรานต์
1. ก่อนวันสงกรานต์ มักจะเป็นการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการจะเริ่มต้นชีวิต วันขึ้นปีใหม่ 
2. ช่วงวันสงกรานต์ จะได้เป็นเวลาที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจสดชื่น เบิกบาน กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ ทำบุญตักบาตร ถือเป็นการสืบทอดและทำบำรุงพุทธศาสนา 
3. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือการทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณผู้ล่วงลับไปแล้ว
4. การสรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระภิกษุสามเณร 
5. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ แสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
6. การเล่นรดน้ำระหว่างญาติพี่น้อง มิตรสหาย หรือระหว่างเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
สิ่งที่ควรละเว้นในเทศกาลสงกรานต์
• ไม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดองของเมาในวัด หรือในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มักจะเมาอาละวาด จนเกิดการทะเลาะวิวาท หรือ เมาแล้วขับรถโดยประมาท
• ไม่เล่นสาดน้ำกัน ด้วยความรุนแรง คึกคะนอง และไม่ใช้อุปกรณ์ที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
#ความรู้เกี่ยวเทศกาลสงกรานต์ #สาดสนุกปักหมุดThailand #กระทรวงวัฒนธรรม #กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา #นโยบายรัฐบาล20กระทรวง