ประธานวิสาหกิจชุมชน 4 ภาค ยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรม มหาสารคาม ตรวจสอบโครงการวิจัยฯ ของมหาลัยดัง จ.มหาสารคาม
นายสมชัย แสงทอง ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ นางนิตยา นาโล ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคอีสาน นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคกลาง และนายทวี ประหยัด ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 ภาค ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอให้มีการตรวจสอบโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โดยมี นายนำโชค ราตรีโชติ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
นายสมชัย แสงทอง ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีการพิจารณาอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยได้อนุมัติผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565 โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน งบประมาณทั้งสิ้น 600,587,000 บาท โดยมี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,500 กลุ่ม
ซึ่งการดำเนินการจะมีประธาน 4 ภาค เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาค กลาง และภาคใต้) จำนวน 3,500 กลุ่ม ซึ่งจะได้รับปัจจัยการผลิตเพื่อการวิจัยจากโครงการแบ่งโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม 8 ประเภท ดังนี้ 1. ประมง (ปลาดุก, ปลากินพืช ประเภทปลายี่สก,ปลาตะเพียน) 2. ปศุสัตว์ (เป็ดไข่,ไก่ไข่,ไก่พื้นเมือง) 3.เกษตร (พืชเศรษฐกิจ ผักติ้ว,ผักเม็ก,ผักหวาน,พริกไทย,พริก,มะเขือ) และ (ไม้เศรษฐกิจ ต้นสัก,สะเดา,ทุเรียน,สะตอ) และเห็ด ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการฯ มีประเด็นเพื่อขอให้มีการตรวจสอบโครงการ เนื่องจากการส่งมอบปัจจัยการผลิตไม่ได้มาตรฐานและไม่ครบตามปัจจัยการผลิตที่กำหนดในโครงการฯ อีกทั้งมี การดำเนินการส่อเจตนาไม่โปร่งใส ไม่มีการประกาศยื่นประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (e-biding) แต่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงแทน มีลักษณะเข้าข่ายการฮั้วโครงการ บริษัทฯ ที่ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลายบริษัทฯ มีลักษณะเป็นบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อรองรับโครงการฯ เนื่องจากบริษัทฯไม่มี สินค้าตามที่จดทะเบียนพาณิชย์ มีการแยกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเป็น ๒๙ สัญญา ตลอดจนถึงผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และผู้กระทำการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากโครงการในลักษณะร่ำรวยผิดปกติ และโครงการฯ ได้สร้างภาระหนี้สิน ความเสียหายแก่วิสาหกิจชุมชน ด้วยการแจ้ง ให้วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการประกาศ ที่ได้รับไก่ไข่ สร้างโรงเรือนไว้รอรับมอบ แต่ไม่ได้มีการส่งมอบปัจจัยการผลิตให้แก่วิสาหกิจชุมชนตามที่กลุ่มได้แจ้งความต้องการไว้
โดยประเด็นที่นำเสนอให้ตรวจสอบ ประกอบด้วย 1.การจัดซื้อจัดจ้างอาจเข้าข่ายผิด มาตรา 8 การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2560 ให้ทำการตรวจสอบการทำสัญญา 29 สัญญา ซึ่งบาง หจก. มีลักษณะการจัดตั้ง ไม่ตรงตามลักษณะที่จดทะเบียนพาณิชย์ 2.ปัจจัยการผลิต ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตาม TOR (ปลาไม่ได้ขนาด อาหารปลาชื้น มีเชื้อรา มีการส่งมอบล่าช้า ก้อนเห็ดไม่มีเชื้อ อาหารเป็ด อาหารไก่ไม่มีคุณภาพ) 3.หัวหน้าโครงการ แจ้งประกาศให้วิสาหกิจชุมที่ได้ปัจจัยการผลิตเป็นไก่ไข่ให้สร้างโรงเรือน (เล้าไก่) แต่สุดท้ายไม่มี การส่งมอบไก่ไข่ โดยมีหนังสือจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามวันที่ 9 มกราคม 2565 ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เสียเงินในการสร้างโรงเรือน 4. การลงพื้นที่ของคณะวิจัย ทีมวิจัยโครงการฯ ประกอบด้วยนักวิจัย 15 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 15 คน กำหนดพื้นที่ดำเนินการวิจัย 3,500 กลุ่มวิสาหกิจ เท่ากับว่า พื้นที่วิจัย 3,500 แห่งหารด้วยนักวิจัยในโครงการ 15 คน ต้องลงพื้นที่วิจัยเฉลี่ยคนละ 223 แห่งในระยะเวลา 4 เดือน ขณะที่แต่ละคนมีภาระงานสอนประจำเกือบทุกวัน และใช้วิธีสุ่มตรวจสอบการวิจัย เป็นการวิจัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากระยะเวลาโครงการสั้น การส่งมอบปัจจัยการผลิตล่าช้า ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงตามหลักงานวิจัยทางวิชาการ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานสิ้นสุดโครงการไว้ 4 เดือน เพื่อให้เข้าเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณ แต่การเลี้ยงปลา การปลูกผักหวาน ปลูกผักสะตอ ใช้เวลาเก็บผลผลิตเกิน 4 เดือน 5.การคัดเลือกวิสาหกิจชุมชน และการส่งมอบปัจจัยการผลิต ไม่ตรงตามความต้องการ ไม่มีการตรวจสอบความ ต้องการของวิสาหกิจชุมชน แต่โครงการฯ ใช้วิธีจัดสรรแบบสุ่ม ทำให้เกิดความเสียเกือบทั้งหมด เช่น วิสาหกิจชุมชนต้องการ เป็ด ไก่ แต่ได้รับจัดสรรเป็นพืชเศรษฐกิจ หรือไม้เศรษฐกิจ และ/หรือ บางวิสาหกิจชุมชนมีพื้นที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสม อยู่บนเกาะ อยู่ในทะเล อยู่บนภูเขา (ได้รับพืช เศรษฐกิจ ไม้เศรษฐกิจ วิสาหกิจชุมชนที่มีที่ตั้งอยู่ในชุมชน ในเขตเมือง ได้รับปัจจัยการผลิตเป็นกลุ่มปศุสัตว์ 6. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการฯ ร่ำรวยผิดปกติ ในหลายๆราย และหลายระดับ มีการปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สิน มี การถ่ายโอนทรัพย์สินในรูปของสิ่งปลูกสร้าง การครอบครองทรัพย์สินประเภทบ้าน ที่ดิน รถยนต์ ตลอดจนถึงการ สร้างสาธารณะสถานสิ่งปลูกสร้าง และบำรุงพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆ
ประธาน ๔ ภาค ในฐานะตัวแทนวิสาหกิจชุมชนที่มีผลกระทบจากโครงการฯ จึงขอให้ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดมหาสารคาม ได้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว อย่างละเอียด และรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์และเงินงบประมาณแผ่นดิน ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพราะเงิน 600,587,000 บาท เป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคน ด้าน นางนิตยา นาโล ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคอีสาน เปิดเผยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.สกลนคร จำนวน 29 กลุ่ม ได้รับผลกระทบจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกลุ่มวิสาหกิจ ได้รับก้อนเห็ดเน่าเสียและก้อนเห็ดที่ไม่หยอดเชื้อ ไม่สามารถให้ผลผลิตได้จาก โดยต้องเหมารถไปซื้อก้อนเห็ด และค่าจ้างในการดูแลก้อนเห็ดและทำโรงเรือนเพาะเห็ด ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้รับความเดือดร้อน