รับรองพันธุ์ข้าวไทย ประธานสภาเกษตรกรนครสวรรค์ พร้อมหนุนเกษตรกรโรงเรียนชาวนา รับรองพันธุ์ข้าวไทย " ข้าวหอมใบเตย"
รับรองพันธุ์ข้าวไทย ประธานสภาเกษตรกรนครสวรรค์ พร้อมหนุนเกษตรกรโรงเรียนชาวนา รับรองพันธุ์ข้าวไทย " ข้าวหอมใบเตย"
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. สภาเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดให้มีการประชุมคณะทำงานด้านข้าว ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยนายเศรณี อนิลบล ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ ประธานในที่ประชุม กล่าวเปิดการประชุมคณะทำงานด้านข้าว ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567
นายเศรณี ได้แจ้งผลการประกาศ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( Geographical Indications: GI ) "ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 และได้มีการประชาสัมพันธ์ รับสมัครผู้ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ สำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าข้าวหอมใบเตย จากนั้น ได้รับฟังการบรรยายข้อปัญหาจาก นายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้แทนมูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร ที่พัฒนาข้าวสายพันธุ์ไทย ที่กำลังประสบปัญหาในการขออนุญาต ขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวไทย กับกรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตร
นายนพดล กล่าวว่า เนื่องจากในการขออนุญาตรับรองพันธุ์ข้าว จำนวนหนึ่งสายพันธุ์นั้น มีกระบวนการ ขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ค่อนข้างนานหลายปี ประกอบกับยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่ค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรทั่วไป ไม่สามารถขึ้นทะเบียนรับรองสายพันธุ์ข้าว ที่ตนเองหรือองค์กร ได้มีการวิจัย พัฒนา ปรับปรุงได้
นายนพดลกล่าวต่ออีกว่า โดยเฉพาะมูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ( ไม่มีนโยบายในการแสวงหารายได้ ) ได้ริเริ่มในการ วิจัย ค้นคว้า รวบรวม และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ในพื้นที่เป็นเวลามากกว่า 20 ปี จนได้สายพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตต่อไร่สูง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น มีความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูพืช สามารถ ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ ในท้องถิ่น ได้เป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าว ได้พัฒนา และให้การรับรอง กลับ ไม่เป็นที่นิยม และตรงกับความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกร มีความต้องการปลูกข้าวเพื่อการบริโภค แปรรูป จำหน่ายภายในชุมชน และพื้นที่ข้างเคียง อีกทั้งยังต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ไว้ใช้สำหรับปลูกในฤดูต่อไป เพื่อลดต้นทุนการผลิต
เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมีปัญหาด้านผลผลิต และการเจริญเติบโต ทั้งนี้หากการขึ้นทะเบียน รับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ใช้ระยะเวลาไม่นานเกินไป รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ถูกลง จะทำให้เกษตรกรไทย หรือองค์กรเกษตรกร มีความสามารถเข้าถึง การขึ้นทะเบียน และจดรับรองพันธุ์ข้าวของตนเองได้ จะทำให้เกษตรกรไทย มีสายพันธุ์ข้าว ที่หลากหลาย สามารถเข้าถึง สายพันธุ์ข้าวที่ดี ให้ผลผลิตสูง เมล็ดพันธุ์ราคาถูกลง และเป็นสายพันธุ์ ที่เกษตรกรต้องการใช้ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทย ให้คงอยู่เพื่อลูกหลาน เกษตรกรไทย ในอนาคต มิเช่นนั้นแล้ว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 - 20 ปี ข้างหน้า อาจจะไม่มีข้าวพื้นถิ่นไทยหลงเหลืออยู่เลย และเกษตรกรไทย อาจจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จากบริษัทเอกชน หรือจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีราคาสูงมาก ทำให้ต้นทุนในการผลิตข้าวสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร และเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของประเทศ "ดังนั้นจึงต้องการฝากให้สภาเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และเป็นที่พึ่งของเกษตรกร ที่จะรับฟังปัญหา และหาทางช่วยเหลือ ประสานงาน ให้กรมการข้าว หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทบทวนเงื่อนไข ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลาในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการรับรองพันธุ์ข้าว รวมถึงการรับรองสายพันธุ์ข้าว ที่เป็นความต้องการของเกษตรกร ได้แก่ ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เหมาะสมต่อพื้นที่ อายุเก็บเกี่ยว พอเหมาะ และสุดท้ายทาง มูลนิธิโรงเรียนชาวนา ยังมีแผนที่จะนำข้าว มาผลิตเป็นสุราพื้นบ้าน ที่มี กลิ่น และรสชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ถ้าหากใครได้ชิม จะต้องนึกถึง ข้าวนครสวรรค์" นายนพดล กล่าวในที่สุด
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์