NF จังหวัดนครพนม จัดเวทีเปิดตัวโครงการ เฟส 3 เดินหน้าขยายผลต่อของพื้นที่เป้าหมาย สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะของ ปชช. ในพื้นที่
นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และการจัดการขยะนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะทั้งสองประเด็นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต และด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดนครพนม ซึ่งจังหวัดนครพนมมีเป้าหมายการพัฒนา คือ การเป็นเมืองน่าอยู่ ประตูเศรษฐกิจ สู่อนุภาคลุ่มน้ำโขง การที่จะพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวจะต้องดำเนินการในหลายประเด็น เช่น ทางด้านเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพชีวิต การดูแลกลุ่มเปราะบาง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการสร้างระบบสาธารณสุขที่ดี เป็นต้น ขณะเดียวกันจังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งจังหวัดที่ถูกคัดเลือกให้ยกระดับจากเมืองรองเป็นเมืองหลักโดยรัฐบาลในชุดปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ซึ่งจะมีการสนับสนุนการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว
ดังนั้น จังหวัดนครพนม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะมีการลงทุนของภาคเอกชนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างห้างสรรสินค้าขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน โรมแรมที่พัก ความเจริญเติบโตดังกล่าวสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนคนนครพนม ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายต่อผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้านสังคมโดยเฉพาะประเด็นผู้สูงอายุ ปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีประชากรผู้สูงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 16.86 หรือ 120,895 คน ซึ่งขยับเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ร้อยละ 20) ในอีกไม่นาน ขณะที่ปริมาณขยะของจังหวัดนครพนม มีจำนวน 674.99 ตัน/วัน ส่วนความสามารถในการจัดเก็บอยู่ที่ 538.62 ตัน/ วัน ซึ่งมีแนวโน้มที่ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมไม้ร่วมมือกันดำเนินงาน จึงเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
นางรณิดา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั้งสองประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ หรือการจัดการขยะ ที่ดำเนินงานโดยหน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือการทำงานของหลายภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ 3 ถือเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองนครพนมให้ไปถึงเป้าหมาย “เมืองน่าอยู่” ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครพนมเองพร้อมสนับสนุนในเชิงนโยบาย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเกิดการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะอย่างเป็นรูปธรรม นางรณิดา กล่าว.
ด้าน ผศ.ดร.วรุวุฒิ อินทนนท์ เปิดเผยว่า หน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการ จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม ภาคราชการ และภาคประชาชน ดำเนินการโครงการสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563
รูปแบบการดำเนินงาน จะทำหน้าที่รับสมัครคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ที่มีทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยบริการสุขภาพ และชุมชน จากนั้นมีการพัฒนาศักยภาพให้กับแกนนำดำเนินโครงการ สนับสนุนงบประมาณ และติดตามหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้สนับสนุนพื้นที่ดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 50 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ ของจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ การดำเนินโครงการยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ และปริมาณขยะลดลงในพื้นที่เป้าหมายอย่างชัดเจน นอกจากนี้ได้เกิดพื้นที่ต้นแบบหลายพื้นที่ที่สามารถเป็นโมเดลให้กับหน่วยงานและพื้นที่อื่น ๆ ใช้เป็นแบบอย่างในการขยายผล ผศ.ดร.วรุวุฒิ กล่าว.
การดำเนินโครงการระยะที่ 3 (เฟส 3) นี้ มีพื้นที่เป้าหมายสนับสนุน 25 โครงการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือน มกราคม 2567-กรกฎาคม 2568 โดยเป็นการขยายผลของพื้นที่ต้นแบบที่มีอยู่ สำหรับเวทีเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ผ่านมา และเพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับสังคม เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการ และสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพของคนนครพนม มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะทำงาน Node Flagship นครพนม, ตัวแทน อปท., หน่วยบริการสุขภาพ, ชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ตัวแทนหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ อาจารย์ และนักศึกษา รวมทั้งสิ้น 120 คน
ภาพ/ข่าว : งานสื่อสาร NF จังหวัดนครพนม