อบจ.อุดรธานีร่วมกับประมงจังหวัดอุดรธานี ปล่อยราชินีแห่งแม่น้ำโขง เชื่อมโยงอาหาร สร้างแหล่งโปรตีนให้ชุมชน ในยุควิกฤติโควิด 19  

 

 

วันที่ 23 ก.ค. 64 เวลา 07.00 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ได้จัดโครงการจัดหาพันธ์ุสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรในแหล่งน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2564 ร่วมกับทางประมงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโครงการในครั้งนี้เพื่อนำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยให้พี่น้องประชาชนไว้เป็นแหล่งอาหารสร้างโปรตีนที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และได้ส่งมอบพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 10 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ปลาบึก”หรือที่ได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งแม่น้ำโขง" ปลาบึก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pangasianodon gigas) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150–200 กิโลกรัม ใน 5 ปี ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีน, ลาว, พม่า, ไทย เรื่อยมาตลอดความยาวของแม่น้ำรวมไปถึงแควสาขาต่าง ๆ เช่น แม่น้ำงึม, แม่น้ำมูล, แม่น้ำสงคราม แต่ไม่พบในตอนปลายของแม่น้ำโขงที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นจุดที่ไหลออกทะเลจีนใต้ เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบันสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจัดปลาบึกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered) และติดอยู่ในบัญชี ไซเตส กลุ่ม 1 ชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าท้ายบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) (ลำดับที่ 909) 

อบจ.อุดรธานีและประมงจังหวัดอุดรธานี จึงนำมาปล่อยในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ทั้ง 20 อำเภออย่างทั่วถึง ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมปล่อย 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหนองแสง อำเภอเมือง และอำเภอหนองวัวซอ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดย นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี มอบหมายให้ ส.อบจ.อุดรธานี ในแต่ละเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ อบจ.อุดรธานี ร่วมกิจกรรม ดังต่อไปนี้

จุดที่ 1 นายแบบ วันทอง ส.อบจ.อุดรธานี อ.หนองแสง เป็นประธานฯ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิด จำนวน 2,168,850 ตัว ณ หนองเสี่ยนดุม บ.โคกศรี ต.นาดี อ.หนองแสง จ.อุดรธานี
และ ประมงอำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กรรมการแหล่งน้ำฯ เข้าร่วม
จุดที่ 2 นายสมัคร บุญปก รองนายก อบจ.อุดรธานี เป็นประธานฯปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิดจำนวน 1,346,100 ตัว ณ หนองขุ่น บ.หนองหลัก ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
พร้อมด้วย นายยิ่งใหญ่ กองทอง ส.อบจ.อุดรธานี อ.เมือง เขต 9 นายสุรพล ศรีโสดาพล ผอ.รร.บ้านหนองขุ่นเหล่าหลักวิทยา และประมงอำเภอ ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วม
จุดที่ 3 นางพนมพร ฝ้ายสีงาม ส.อบจ.อุดรธานี อ.หนองวัวซอ เขต 1 นายบัวเรียน ภูศิริต ส.อบจ.อุดรธานี อ.หนองวัวซอ เขต 2 เป็นประธานฯ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิด จำนวน 1,206,050 ตัว ณ หนองบัวเลิง บ.อูบมุง ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานีและ ประมงอำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กรรมการแหล่งน้ำฯ เข้าร่วม 

นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารสร้างโปรตีนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องชนิดของพันธุ์สัตว์น้ำ อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลานวลจันทร์ ปลากดเหลือง ปลาสวาย ปลากะโห้ และปลาบึก รวมถึงวิธีการเลี้ยงดู เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน และส่งเสริมเป็นอาชีพก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
อ้างอิงข้อมูล ปลาบึกจาก
1. Hogan, Z. (2011). "Pangasianodon gigas". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2. International Union for Conservation of Nature. สืบค้นเมื่อ 16 April 2012.
2. หน้า 24 เกษตร, ปลาบึก. "เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,793: วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557 แรม 3 ค่ำ เดือน 1 ปีมะเมีย
3. "Pangasianodon Chevey, 1931". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.