องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมติดตามการดำเนินงานฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านดงเย็น จังหวัดเชียงใหม่
วัน ศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสุทัศน์ ตั้งพิพัฒน์พงศ์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพื้นที่ 3 สำนักงาน กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านดงเย็น ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 83 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 210 ถุง จากนั้นองคมนตรีพร้อมคณะ รับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการ และปลูกต้นไทรย้อยใบแหลมเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ พร้อมกับพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร และเยี่ยมชมผลผลิตจากโครงการฯ อาทิ ชาดาวเรือง ชาเก๊กฮวย ชาผักเชียงดาผสมใบหม่อน ชาใบหม่อน นมแพะพร้อมดื่ม และขนมดอกจอกผสมนมแพะ
ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านดงเย็น อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ณ บ้านห้วยสะแพด หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จัดหาพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างอาชีพให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนได้มีงานทำ ซึ่งบ้านดงเย็นเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่อยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มี 5 หมู่บ้าน โดยเป็นชุมชนหมู่บ้านชาวไทยพื้นเมือง จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดงเย็น บ้านท่ากอม่วง บ้านสบแจ่มฝั่งซ้าย และบ้านบวกห้า และชุมชนหมู่บ้านชาวไทยกระเหรี่ยง จำนวน 1 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยสะแพด ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ มีการจ้างงานให้แก่สมาชิก จำนวน 50 คน อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การประกอบอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการป้องกันยาเสพติด โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชในระบบอินทรีย์ การเลี้ยงแพะนม แพะเนื้อ การเลี้ยงหมูจินหัว การเลี้ยงหมูดำเชียงใหม่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การให้ความรู้เรื่องการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วม ปลูกจิตสำนึกในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2566 สำนักงาน กปร. ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมต่อยอดกลุ่มอาชีพ การทำไม้กวาดทางมะพร้าว การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชและใบไม้ การฝึกอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน พื้นที่ป่าโดยรอบยังคงความสมบูรณ์ไม่มีการขยายพื้นที่ทำกิน ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์
ช่วงบ่ายคณะเดินทางไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร สักการะพระธาตุศรีจอมทองและเยี่ยมชมปูชนียสถานที่สำคัญของวัด
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.