กองทัพอากาศขอเชิญร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ กองทัพอากาศ ประจำปี 2567
• การแสดงภาคการบิน (AIR SHOW) ของเครื่องบินแบบต่าง ๆ ได้แก่ การบินผ่านสนามบิน และการบินผ่านปล่อยควันสี
• การตั้งแสดงยุทโธปกรณ์ และการตั้งแสดงอากาศยาน จำนวน 12 แบบ ได้แก่ T-50, F-16 A/B, AU-23A, EC-725, F-5 E/F, Alpha Jet, CT/4E, A-340, DA-42, T-6C, C-130H และ Gripen เป็นต้น
• กิจกรรมบนเวที ได้แก่ การแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ทหารอากาศและแขกรับเชิญ การเดินแบบโดยนักเรียนนายเรืออากาศและนักเรียนพยาบาลทหารอากาศ การแสดงของศิลปิน Girl Group BERRY BERRY การเล่นเกมส์แจกของรางวัล เป็นต้น
• กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การออกบูธนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ การแสดงของสุนัขทหาร การแสดง Fancy Drill การแสดงกระบี่กระบอง การแสดง Drum Zeed การแสดงรถเกราะ (1 Condor, V-150) เป็นต้น
ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ได้จัดรถโดยสารปรับอากาศ จากกรมขนส่งทหารอากาศ อำนวยความสะดวก รับ-ส่งผู้ร่วมงานจากจุดจอดรถ ไปยังบริเวณงานฯ สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว สามารถจอดรถได้ 4 จุด ดังนี้
- จุดจอดรถ อุทยานการบินกองทัพอากาศ รองรับได้ประมาณ 400 คัน
- จุดจอดรถ หอประชุมกานตรัตน์ รองรับได้ประมาณ 50 คัน
- จุดจอดรถ หอประชุมกองทัพอากาศ (ทองใหญ่) รองรับได้ประมาณ 300 คัน
- จุดจอดรถบริเวณโรงเรียนจ่าอากาศ รองรับได้ประมาณ 500 คัน
โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติของกองทัพอากาศ ประจำปี 2567 ได้ที่ www.rtaf.live และเฟซบุ๊ก “กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force” ระหว่างเวลา 08.00 - 10.00 น. ทั้งนี้ ขอความร่วมมือไม่บินโดรนเหนือบริเวณพื้นที่จัดงาน รวมถึงไม่นำลูกโป่ง อาวุธและสิ่งของมีคม วัตถุไวไฟ และสัตว์เลี้ยง เข้ามายังบริเวณงาน
นอกจากนี้ ในวันที่ 13 มกราคม ของทุกปี ยังเป็นวันการบินแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ ตรงกับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กองทัพอากาศ จึงจัดให้มีพิธีวางพานพุ่ม เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณโรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 โดยมี พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธี
วันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปีพุทธศักราช 2454 โดยจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์
ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย (บุพการีทหารอากาศ) คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต (ยศสุดท้าย) ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นาย เดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ
นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 เครื่อง ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรกประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 เครื่อง หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 (ค.ศ.1913) ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ
ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้นในวันที่ 13 มกราคม 2456 (ค.ศ.1914 ห้วงนั้นประเทศไทยถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นศักราชใหม่) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย กระทั่ง ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปี เป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่พุทธศักราช 2538 เป็นต้นมา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการบินไทย และคุณประโยชน์ของกิจการการบิน อีกด้วย
***********************************
กองประชาสัมพันธ์
สำนักกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์
กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ
10 มกราคม 2567