สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหล่มสัก ร่วมกับ วัดโฆษา และคณะกรรมการ ตำบลห้วยไร่ จัดงานประเพณีเจดีย์ข้าว วัดโฆษา สีบสานบุญคูณลาน บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566
วันที่ 7 ธ.ค.2566 ที่วัดโฆษา บ้านท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจศิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เป็นประธานแถลงข่าว การจัด “งานประเพณี เจดีย์ข้าววัดโฆษา สีบสานบุญคูณลาน บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566”โดยมี นายราเชนทร์ สร้อยอุทา ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทน นายอำเภอหล่มสัก นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายวีระ ธูปทอง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และ ชาวบ้านท่าช้าง เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ซึ่งการจัดงานประเพณี เจดีย์ข้าววัดโฆษา สืบสานบุญคูณลาน บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566 นั้น ได้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19 - 23 ธันวาคม 2566 นับเป็นปีที่ 4 หลังจากเสร็จสิ้นการจัดงาน ทางคณะกรรมการยังคงจัดแสดงเจดีย์ข้าวฯ อยู่ ประชาชน นักท่องเที่ยว ยังคงสามารถเข้าเที่ยวชมได้ต่อไปอีก ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เมื่อเสร็จสิ้นการจัดแสดงแล้ว ก็จะได้นำข้าวเปลือกไปจำหน่าย และนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป สำหรับการจัดงานประเพณีเจดีย์ข้าวฯ ในครั้งนี้ เกิดจากพลังความรัก ความศรัทธาและความสามัคคีของ "บวร" ประกอบด้วย บ้าน วัด ราชการ ชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหล่มสัก จึงได้ร่วมกับ วัดโฆษาและคณะกรรมการ ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเจดีย์ข้าว สืบสานบุญคูณลาน บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566 ขึ้น
เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสานพิธีบุญคูณลานสู่ขวัญข้าว เป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ประชาชน และ รำลึกถึงบุญคุณพระแม่โพสพ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน สร้างพลังความสามัคคี และสร้างรายได้ในชุมชน ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมการแสดงต่างๆ ทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี จากองค์กรหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งนี้การจัดงานประเพณีเจดีย์ข้าว สืบสานบุญคูณลาน บูชาพระแม่โพสพ ปี 2566 เป็นการนำแนวคิดงานประเพณีบุญคูณลานสู่ขวัญข้าว ซึ่งเป็นการทำบุญขวัญข้าวเพื่อให้เกิดสิริมงคล และแสดงออกถึงวิถีชีวิตชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของประเทศชาติ และสืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 นายศิวัช ฟูบินทร์ อดีตนายอำเภอหล่มสัก ได้เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างเจดีย์ข้าวขึ้น
โดยได้นำแนวคิดงานประเพณีบุญคูณลานสู่ขวัญข้าว มาเผยแพร่ความคิดให้กับพระครูถาวรพัชรกิจ เจ้าอาวาสวัดโฆษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและประชาชนตำบลห้วยไร่ และได้นำคณะผู้นำชุมชน ตำบลห้วยไร่ไปศึกษาดูงานปราสาทข้าวที่วัดเศวตวันวนาราม บ้านต้อน ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ และนำแนวคิดวิธีการทำปราสาทข้าวมาประยุกต์เพื่อสร้างเจดีย์ข้าว
โดยขอรับบริจาคข้าวเหนียวที่กำลังเก็บเกี่ยว จำนวน 8 ตัน นำมามัดรวมกันเป็นช่อ เพื่อดำเนินการสร้างเจดีย์ข้าวทรงระฆังคว่ำ ฐาน 8 เหลี่ยม และกำแพงแก้วล้อมรอบขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยเริ่มจากการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ซึ่งนายศิวัช ฟูบินทร์ อดีตนายอำเภอหล่มสัก ได้บริจาคพันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 เป็นพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะกล้าในการทำนา
โดยกระบวนการทำนาเริ่มต้นตั้งแต่เตรียมแปลงนา หว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา และเกี่ยวข้าว เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วได้นำรวงข้าว ที่ชาวบ้านร่วมกันเอามื้อเอาแฮงกัน ลงแขกเกี่ยวข้าว จากแปลงนาของ นายสวัสดิ์ คำสุข หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จำนวน 7 ไร่ และแปลงนาของ นายไพฑูลย์ อินหา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก อีกจำนวน 1 ไร่ 2 งาน
สำหรับกิจกรรมภายในงาน
วันที่ 19 ธันวาคม 2566
พิธีเปิด ชมขบวนแห่ บวงสรวง การแสดงมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จำนวน 2 ชุด
วันที่ 20 ธันวาคม 2566
พาข้าวย่อง การแสดงของศิลปิน รุ่งฟ้า กุลาชัย
วันที่ 21 ธันวาคม 2566
พาข้าวย่อง การแสดงของศิลปิน เฉลิมพล มาลาคำ
วันที่ 22 ธันวาคม 2566
การแสดงดนตรี วงซุปเปอร์วาไรตี้
และ วันที่ 23 ธันวาคม 2566
ชมการแสดงหมอลำคณะปฐมบันเทิงศิลป์