รมช.ทรงศักดิ์ เปิดงาน 12 ปีเปิดประตูสู่นครนาคา ออกพรรษาบึงกาฬ " ที่ถนนข้าวเม่าริมโขง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ
รมช.ทรงศักดิ์ เปิดงาน 12 ปีเปิดประตูสู่นครนาคา ออกพรรษาบึงกาฬ "
ที่ถนนข้าวเม่าริมโขง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 12 ปีเปิดประตูสู่นครนาคา ออกพรรษาบึงกาฬ ประจำปี 2566 โดยมีนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ นายสยาม เพ็งทอง ส.ส.บึงกาฬ เขต.1 นายสุวรรณา กุมภิโร ส.ส.บึงกาฬ เขต.2 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนชาวบึงกาฬให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังมี ท่านคำแหวน ปันยานุวง รองเจ้าแขวงบอลิคำไซ นำผู้บริหารจากแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ส่วนราชการ องค์กรเอกชน และประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมวันออกพรรษา เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศกาลออกพรรษา และบั้งไฟพญานาคจังหวัดบึงกาฬ ให้มีความสำคัญและน่าสนใจ สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการจัดกิจกรรมในช่วงออกพรรษาและบั้งไฟพญานาค จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชน และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬได้เป็นอย่างดี และจะกลายเป็นอีกงานหนึ่งที่ชาวบึงกาฬและนักท่องเที่ยวรอคอยที่จะมาร่วมงาน นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ขอบคุณคณะผู้บริหารจากแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว พร้อมฝากความหวังไว้กับชาวจังหวัดบึงกาฬทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจให้ความร่วมมือการพัฒนาร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เพื่อให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ จะทำให้บึงกาฬกลายต้นแบบการพัฒนาให้กับจังหวัดอื่นๆ ในการเป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่อาศัยและเป็นเมืองชายแดนที่น่าลงทุน สร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับชาวจังหวัดบึงกาฬ 12 ปีที่ยกฐานะเป็นจังหวัดบึงกาฬ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งมีการก่อสร้างสะพานไทย-ลาวแห่งที่ 5 ระหว่างบึงกาฬ-ปากซัน ซึ่งจะเปิดใช้ในต้นปี 2567 นี้ ส่วนสนามบินบึงกาฬจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้ในปี 2572 นี้แน่นอนเช่นกัน
นางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ประเพณีออกพรรษา เป็นงานบุญที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ มีความสำคัญกับชุมชนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะได้ร่วมกันปฏิบัติพุทธบูชา บูชาพญานาคและบูชาสายน้ำ ด้วยกิจกรรมต่างๆ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ ได้ร่วมกันสืบสานงานบุญวันออกพรรษาตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ของภูมิประเทศที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค มีความมุ่งหวังส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬในทุกมิติ เน้นให้ชุมชนและประชาชนทั้ง 8 อำเภอ มีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยมีนางรำอำเภอละ 100 คนรวมทั้งสิ้น 800 คนร่วมฟ้อนรำในขบวนแห่งบวงสรวงบูชาพญานาค เพื่อสร้างความรักความสามัคคีกัน สืบทอดประเพณีที่ดีงาม นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและกลุ่มจังหวัด ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ที่ได้มีการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาออกพรรษาเช่นเดียวกัน
สำหรับงาน "๑๒ ปี เปิดประตูสู่นครนาคา ออกพรรษาบึงกาฬ" จัดระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ บริเวณถนนข้าวเม่าริมโขง กิจกรรมที่สำคัญ อาทิ พิธีบวงสรวง และรำบูชาพญานาค ประกวดพานบายศรี ประกวดเต้นบาสโลบ ประกวดธิดานาคาบึงกาฬ กิจกรรมถนนอาหาร กิจกรรมปั่นสู่นครนาคา การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของสตรี 8 อำเภอและของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ การแสดงของศิลปินนักร้อง หมอลำ และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลากหลายกิจกรรม
นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี//บึงกาฬ
สำหรับงาน "๑๒ ปี เปิดประตูสู่นครนาคา ออกพรรษาบึงกาฬ" จัดระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ บริเวณถนนข้าวเม่าริมโขง กิจกรรมที่สำคัญ อาทิ พิธีบวงสรวง และรำบูชาพญานาค ประกวดพานบายศรี ประกวดเต้นบาสโลบ ประกวดธิดานาคาบึงกาฬ กิจกรรมถนนอาหาร กิจกรรมปั่นสู่นครนาคา การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของสตรี 8 อำเภอและของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ การแสดงของศิลปินนักร้อง หมอลำ และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลากหลายกิจกรรม
นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี//บึงกาฬ