หาแหล่งน้ำแก้แล้ง-ท่วม       นายก อบจ. ลงพื้นที่ดู สระ ฝาย หาพื้นที่เก็บน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ต.ห้วยถั่วเหนือ หนองบัว   

            วันที่ 24 ตุลาคม 2566 พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัด อบจ.นครสวรรค์ และ mobile team ร่วมประชุมรับฟังรายงานผลโครงการที่ อบจ.นครสวรรค์ ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ อบต.ห้วยถั่วเหนือ พร้อมลงพื้นที่ดูสระ ฝาย เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ต.ห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ โดยมี นายเศรษฐา พันธุ์วิริยะพงษ์ ส.อบจ. อ.หนองบัว เขต 1 นายภาณุวัฒน์ เหลืองสุรภีสกุล นายก อบต.ห้วยถั่วเหนือ อ.หนองบัว พร้อมด้วย ผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ ในที่ประชุม นายภาณุวัฒน์ เหลืองสุรภีสกุล นายก อบต.ห้วยถั่วเหนือ ได้รายงานปัญหาพื้นที่ หมู่ 1, 3, 6 และ 9 ตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว พบว่าประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมหนักทุกปี น้ำประปายังใช้น้ำในลำคลอง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการอุปโภค-บริโภค จึงต้องการเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำและค้นหาน้ำใต้ดิน

        เรื่องขุดลอกคลองนั้น อบต.ห้วยถั่วเหนือ ได้รถแบ็คโฮจากการสนับสนุนของ อบจ.นครสวรรค์ มาขุดลอกคลอง เสริมคันดินป้องกันน้ำท่วม ทำให้ปัจจุบันน้ำไหลสะดวกมากขึ้น ได้ผลดีน้ำไม่ท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านแล้ว ทาง อบต. จึงกล่าวขอบคุณพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ที่ให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านตำบลห้วยถั่วเหนือ และตำบลใกล้เคียง โดย พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “น้ำในโซนห้วยถั่วเหนือ พื้นที่ลาดเอียงน้อย พอน้ำมามากจะทำให้เอ่อล้นคลอง เวลาน้ำท่วมถ้าอยากให้น้ำลดไว ต้องลอกคลอง และอยากให้ลอกคลองตั้งแต่ต้นน้ำลงมา ต้องวางแผนการลอกคลองเพื่อให้น้ำไหลสะดวก"พร้อมฝากเรื่อง อ่าง สระ ฝาย บาดาล ว่า "ปัญหาผักตบชวา ในโครงการคลองสวยน้ำใส ทาง อบจ. สามารถสนับสนุนน้ำมันรถแบ็คโฮให้ได้ ถ้าเกินศักยภาพของ อบต. ในส่วนของสระ ถ้ามีสระเดิมแล้วต้องการเพิ่มปริมาตรการกักเก็บน้ำ ต้องหาที่สาธารณะประโยชน์ใช้สำหรับทิ้งดินด้วย ส่วนเรื่องฝายฝาย อยากให้ อบต. เตรียมข้อมูลไว้ เมื่อมีงบประมาณมาจะได้เข้าแก้ไขปรับปรุงได้เลย โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีงบประมาณเพื่อการดำเนินการอย่างรวดเร็ว
  
บ่อบาดาล ทาง อบจ. มีเครื่องขุดเจาะใหม่ที่สามารถเจาะหาน้ำใต้ดินให้ได้ถึง 300 เมตร โดยใช้พื้นที่ 2 × 2 เมตรเท่านั้น ถ้าต้องการค้นหาน้ำใต้ดินก็สามารถทำหนังสือมาที่ อบจ. ได้เลย จะได้จัดเรียงลำดับเข้าคิวไว้ตามแผนปฏิบัติการขุดเจาะ

ต่อจากนั้น อบต.ห้วยถั่วเหนือ และผู้นำชุมชน นำคณะนายก อบจ. ลงพื้นที่ประสบปัญหา ดังนี้

จุดที่ 1 บริเวณสระกักเก็บน้ำ หมู่ 3 ตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว เป็นสระกักเก็บน้ำที่ชาวบ้าน หมู่ 3 และ หมู่ 4 กว่า 300 ครัวเรือนเอาไว้ใช้ แต่ยังขุดลอกไม่เสร็จสมบูรณ์อยากให้ อบจ. ช่วยสนับสนุนในการขุดสระ 

จุดที่ 2 บริเวณฝายน้ำล้น หมู่ 3 ตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว เป็นฝายกักเก็บน้ำในคลอง ซึ่งปัจจุบันน้ำได้เซาะใต้ฝาย ชาวบ้านกลัวฝายจะพัง ทางนายก อบต. จึงใช้หินผสมดินและทรายอุดไว้ไม่ให้น้ำเซาะ ซึ่งนายก อบจ. ได้รับเรื่องไว้และประสานกับกองช่างช่วยแก้ไข

จุดที่ 3 เป็นสระเก็บน้ำที่ทาง อบต.ห้วยถั่วเหนือ ได้ขุดไว้เพื่อรองรับน้ำไว้ใช้ใน 2 ปีข้างหน้า จึงได้ทำการปั้นคันดินไว้เพื่อรอรับน้ำ แต่ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังมีดินบางส่วนที่ยังไม่ได้ขุดลอกไป ซึ่งนายก อบจ. ก็ให้การสนับสนุนน้ำมันรถแบ็คโฮ โดยให้ อบต. ทำหนังสือประสานมา อบจ. พร้อมช่วย

จุดที่ 4 บริเวณคลองห้วยวารี หมู่ 9 บ้านห้วยวารีเหนือ ตำบลห้วยถั่วเหนือ อำเภอหนองบัว เป็นคลองเชื่อม3ตำบล 6หมู่บ้าน พบปัญหาน้ำล้นท่อลอดถนนทุกปี ชาวบ้านจึงอยากให้ อบจ. ขยายท่อหรือเปลี่ยนเป็นสะพานให้มีขนาดเท่ากับคลองเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกไม่เอ่อล้นออกมา นายก อบจ. จึงประสานไปยังกองช่างให้เข้าแก้ไข
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรค์