ติดตามสถานการณ์น้ำ นายก อบจ.นครสวรรค์ ประชุมร่วมกองช่าง และฝ่ายสถิติข้อมูลและสารสนเทศ ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.นครสวรรค์ พร้อมสูบเก็บกันแล้ง   

 

          วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ อบจ.นครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายมานพ บุญผสม รองนายก อบจ.นครสวรรค์, สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัด อบจ.นครสวรรค์, นายนิมิต ยืนยง ผอ.กองช่าง, นายชัยภัคฐ์ มั่นคงเศวตวงศ์ หัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ, นายพิสิษฐ์ สุวรรณศรี หัวหน้าฝ่ายสถิติข้อมูลและสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดนครสวรรค์ จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2566) เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 5,797 ล้าน ลบ.ม. (43%)  และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 3,983 ล้าน ลบ.ม. (42%) อัตราน้ำไหลผ่านที่สถานี C2 ค่ายจิรประวัติ อยู่ที่ 1,683 ลบ.ม/วินาที ที่สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 1,479ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำในบึงบอระเพ็ดอยู่ที่ +22.22 รทก. (23.86%) (ระดับเก็บกัก +24 รทก.)

ซึ่งนายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “สถานการณ์น้ำของจังหวัดนครสวรรค์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากทั้งเขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ รวมถึงบึงบอระเพ็ด ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ถ้าปริมาณน้ำฝนที่ยังตกในลักษณะปัจจุบัน คือตกลงมาไม่มาก ไม่มีพายุเข้ามา จังหวัดนครสวรรค์น้ำจะไม่ท่วมอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดนครสวรรค์อย่างใกล้ชิด" นายก อบจ. กล่าวอีกว่า "ขอมอบหมายให้กองช่าง ลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำบริเวณคลองเกรียงไกร, คลองท่าขนมจีน, คลองกระถิน, ห้วยหินลับ และคลองม่วง เนื่องจากเป็นจุดสำคัญที่มีผลต่อสถานการณ์น้ำภายในจังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังกำชับให้ตรวจสอบฝายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าจากสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปีนี้ฝนตกน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ อ่างเก็บน้ำบางพื้นที่ในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเลย เกรงว่าเราจะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง เราต้องติดตามดู หากเริ่มมีน้ำหลากในพื้นที่ใด ให้เร่งตั้งเครื่องสูบ พร้อมสูบน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำทันที เพื่อป้องกันภัยแล้ง”
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์