ม.นครพนม ประชุมภาคีเครือข่ายสุขภาพ เตรียมแผนทดสอบระบบ Innovation Sandbox รับมือภาวะโรคเบาหวานในพื้นที่นครพนม   

        ม.นครพนม ประชุมภาคีเครือข่ายสุขภาพ เตรียมแผนทดสอบระบบ Innovation Sandbox รับมือภาวะโรคเบาหวานในพื้นที่นครพนม

          วันที่ 20 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผสานพลังเครือข่ายด้านสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และโรงพยาบาลนครพนม ประชุมแนวทางการดำเนินงานสำหรับให้บริการในระดับเฉพาะบุคคล ครอบครัว ชุมชนและหน่วยบริการ ภายใต้โครงการ “ทดสอบระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพเขตเมือง : กรณีควบคุมโรคเบาหวานด้วยชีวิตวิถีใหม่และการแพทย์วิถีใหม่ ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดฉุกเฉินที่กำลังผันเป็นโรคประจำถิ่น” เพื่อนำเสนอข้อมูลความรอบรู้ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ในการออกแบบแผนการดำเนินงานสำหรับให้บริการในระดับเฉพาะบุคคล ครอบครัว ชุมชนและหน่วยบริการ เพื่อง่ายต่อการจัดทำแผนปฏิบัติสนับสนุนการจัดการเครือข่ายงานชุมชนร่วมกับภาคีสุขภาพ 

        ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม ประธานผู้เอื้อการเรียนรู้เสริมหนุนการจัดการร่วมข่ายงานจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวเป็นการเตรียมนำร่องทดสอบระบบ Innovation Sandbox เพื่อรับมือภาวะโรคเบาหวาน ซึ่งระบบนี้ถูกใช้ทดสอบมาแล้วในเขตพื้นที่ กทม. แต่พื้นที่ภาคอีสานยังไม่มีการทดสอบใช้ โดยที่นี่ถือว่าเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของภาคอีสาน และหากทดสอบใช้ระบบแล้วประสบความสำเร็จ สามารถที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้ในบริบทที่คล้ายคลึงกัน โดยระบบตัวนี้จะช่วยควบคุมป้องกันบุคคลที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หรือคนที่เป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งมีเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เป็นพันธุกรรมบวกกับการเจ็บป่วยในเรื่องโควิด 19 ซึ่งระบบนี้จะช่วยเพิ่มการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเบาหวาน หรือภาวะเบาหวาน กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีเหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่เป็นพรีเบาหวาน (ก่อนเป็นเบาหวาน) คือ มีน้ำตาลในเลือดสูงแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นเบาหวาน กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นเบาหวานแล้วแต่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน และ กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่เป็นเบาหวานและเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน โดยทั้ง 5 กลุ่มนี้ หากนำระบบเข้าไปทำงาน จะสามารถจำแนกทั้ง 5 ลักษณะกลุ่มประชากรได้ ซึ่งจะมีข้อมูลระดับบุคคลละเอียดกว่าที่หน่วยบริการระบบสุขภาพเคยทำมา” ผศ.ดร.เบญจยามาศ กล่าว.

โดยครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์โรคเบาหวานในชุมชน ความรอบรู้เรื่องโรคเบาหวาน และผลการศึกษาดูงานโรงเรียนเบาหวานต่อที่ประชุม พร้อมสรุปประเด็นสำคัญเพื่อวางแผนดำเนินงานในระยะต่อไป มีเครือข่ายงานชุมชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพ เข้าร่วมประชุม ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอาจสามารถ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม

                                                                                                                ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น