องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี   

องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี

        วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 09.15 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีสูบน้ำไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านชัยบาดาลยุคใหม่ ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการฯ และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและกลุ่มผู้ใช้น้ำ จากนั้น คณะเดินทางไปยังวัดจันทาราม หมู่ที่ 3 ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เยี่ยมชมบ่อน้ำที่สูบน้ำมาจากโครงการสถานีสูบน้ำไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านชัยบาดาลยุคใหม่ มาเก็บกักที่บ่อน้ำวัดจันทาราม เพื่อให้ราษฎรได้ใช้อุปโภคบริโภค โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านชัยบาดาลยุคใหม่ มีพื้นที่โครงการอยู่ในบริเวณขอบคันและบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และห่างจากร่องแม่น้ำป่าสัก (เดิม) ซึ่งไหลผ่านบริเวณโครงการประมาณ 700 เมตร มีความลาดชันน้อย​ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากแม่น้ำป่าสักในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และการอุปโภคบริโภคแต่เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่บนที่ราบเนิน หรือที่ราบสูง ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ จำเป็นต้องอาศัยการสูบน้ำขึ้นไปใช้ ประกอบกับไม่มีอาคารเก็บกักน้ำอื่น​ ๆ จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมได้ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของคนและสัตว์เลี้ยง ในการทำการเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่อาศัยฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียวทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาต่อไร่ต่ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ ประเภทสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อเป็นน้ำเสริมช่วยเหลือการเพาะปลูกในฤดูฝน การเพาะปลูกพืชผักสวนครัวในฤดูแล้ง และการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการอุปโภคบริโภคของราษฎรประมาณ 600 ครัวเรือน ประชากร 1,800 คน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ด้านการเกษตรเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเสริมน้ำฝน เพื่อการปลูกข้าวในฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 2,500 ไร่ ได้อย่างเพียงพอช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมโดยไม่ต้องพึ่งธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

          ต่อมา เดินทางไปยังบ้านเกษตรกร นายอมร ศรีเมฆ หมู่ที่ 5 ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการต่อยอดบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับการส่งเสริมอาชีพการทำเกษตรผสมผสาน และการเลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน การนี้ องคมนตรี รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการต่อยอดบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำเกษตรผสมผสาน) และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการฯ พร้อมกับมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักให้แก่เกษตรกร เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของหน่วยงานและเกษตรกรที่ร่วมดำเนินกิจกรรมโครงการต่อยอดฯ จากนั้น เยี่ยมชมพื้นที่การทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียนในบ่อดิน และพบปะราษฎรในพื้นที่ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ นายอมร ศรีเมฆ อายุ 49 ปี ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ (กลุ่มป่าสักรวมใจ) เริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อปี พ.ศ.2560 ทำพืชไร่มันสำปะหลัง ซึ่งประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ประกอบกับไม่มีเงินเพื่อไปลงทุน ต่อมาจึงหันมาปลูกพืชผักและไม้ผล โดยปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก บนเนื้อที่กว่า 15 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่บ่อน้ำ ใช้น้ำทำการเกษตรและเลี้ยงปลา และพื้นที่ปลูกพืช ผัก และไม้ประดับ เช่น ชะอม กะเพรา มะละกอ มะขามเทศ ลำไย น้อยหน่า กล้วย บอนสี แคคตัส นอกจากนี้ ยังมีการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ไว้ใช้ในสวน เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภายในไร่สวนอีกด้วย  

            ช่วงบ่าย เดินทางไปยังพื้นที่ก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี รับฟังบรรยายความก้าวหน้าโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการฯ และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ จากนั้นพบปะราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และเยี่ยมชมสภาพพื้นที่โดยรอบโครงการฯ โครงการอ่างเก็บน้ำวังตะโกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังตะโกไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ตามที่ราษฎรหมู่ที่ 6 บ้านใหม่ศรีอุบล ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณตำบลโคกแสมสาร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมที่จะดำเนินการก่อสร้างในลักษณะโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำ ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 70%  ซึ่งเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่ฝายบ้านใหม่ศรีอุบลและน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 6 และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 300 ครัวเรือน 1,200 คน เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับช่วยเสริมน้ำฝนเพื่อการปลูกพืชไร่ในฤดูฝน 900 ไร่ และช่วงฤดูแล้ง 300 ไร่ และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด แหล่งท่องเที่ยว ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรให้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกร

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.