องคมนตรี ติดตามผลการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
วันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 15.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. ติดตามผลการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมีนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายอภิชาต ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ให้การต้อนรับที่อาคารห้องประชุมโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา โดยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้กล่าวต้อนรับและรายงานความเป็นมาของโครงการ และนายอภิชาต ชุมนุมมณี รายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ และผลการดำเนินงานโครงการ จากนั้นพบปะผู้นำชุมชนในพื้นที่และตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุง และลำห้วยต่าง ๆ ในเขตบ้านตองโขบ รวมทั้งบริเวณหนองคำฮุย บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานความตอนหนึ่งว่า เนื่องจากพื้นที่ในเขตตำบลตองโขบและตำบลใกล้เคียง มีปัญหาน้ำในห้วยน้ำพุงมีระดับสูงในฤดูฝน จึงไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นประจำ ส่วนหน้าแล้งราษฎรต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค จึงควรดำเนินการดังนี้
“ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ปากลำห้วยร่องช้างเผือกทางฝั่งตะวันออกของลำห้วยน้ำพุง เพื่อควบคุมการไหลของน้ำในลำห้วยต่าง ๆ ตามที่ต้องการ”
“ควรพิจารณาวางโครงการขุดลอกลำห้วยต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน เช่น ห้วยร่องช้างเผือก ห้วยชัน และควรขุดคลองต่อเชื่อมกับหนองน้ำธรรมชาติต่าง ๆ พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่เพาะปลูกไปลงลำน้ำก่ำได้สะดวกในฤดูฝน และรับน้ำจากห้วยน้ำพุงผ่านลำห้วยร่องช้างเผือกและ ลำห้วยอื่น ๆ เข้าเก็บในหนองน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง”
ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ดำเนินการศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จเมื่อ กันยายน 2556 อนุมัติในหลักการเมื่อ 8 กันยายน 2560 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบเมื่อ 14 กันยายน 2561 คณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินการโครงการ 8 มกราคม 2562 ซึ่งประโยชน์ของโครงการสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหาร ได้ร้อยละ 40 และผันน้ำลงลำน้ำก่ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุงและลำน้ำก่ำ สามารถส่งน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และสนับสนุนการเกษตร ช่วยเหลือราษฎรได้
10,857 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่ โดยมีส่วนประกอบโครงการประกอบด้วย
- ประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ ประตูระบายน้ำชนิดบานตรง ขนาด 8.00x 7.00 ม. จำนวน 5 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 550 ลบ.ม./วินาที
- คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง ยาว 18.42 กม. ระบายน้ำได้สุงสุด 45 ลบ.ม./วินาที
- คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำ ยาว 4.74 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 80 ลบ.ม./วินาที
- คลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง ยาว 16.5 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 35 ลบ.ม./วินาที
- คลองผันน้ำห้วยทามไฮ-ห้วยสองตอน ยาว 8.8 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 3 ลบ.ม./วินาที
- อาคารชลประทานตามแนวคลองผันน้ำ
- ระบบส่งน้ำชลประทาน พื้นที่รับประโยชน์ 78,385 ไร่
ปัจจุบันผลการดำเนินงานในภาพรวมทั้งโครงการดำเนินการได้ผลงานสะสมแล้วร้อยละ 46.18 ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ.2569