เปลี่ยนขยะเป็นกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขยะ “หนองแขม” รักษ์โลก ต้นแบบโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม  

       เปลี่ยนขยะเป็นกระแสไฟฟ้า  โรงไฟฟ้าขยะ “หนองแขม” รักษ์โลก ต้นแบบโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสื่อมวลชนโคราชศึกษาดูงาน โรงไฟฟ้าขยะ “หนองแขม” บริษัทซีแอนด์จีฯ มูลค่ากว่า 960 ล้าน สุดทึ่งกับเทคโนโลยีเอาขยะที่สกปรก มาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  ต้นแบบโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะล้นเมือง 

       เมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 คณะสื่อมวลชนจาก จ.นครราชสีมา ได้รับการประสานงานจากผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปศึกษาดูงาน “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม”  ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร โดยมี นายนพดล  พฤกษะวัน กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ  #ประวัติความเป็นมาโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม สถานการณ์ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมูลฝอยจำนวนมากขึ้นทุกวัน เฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน โดยขยะมูลฝอยทั้งหมดจะนำไปฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยได้อย่างเพียงพอ เกิดปัญหาขยะล้นเมืองส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงได้ริเริ่ม “โครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบของการกำจัดมูลฝอยพร้อมผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งสามารถแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดปริมาณมูลฝอยที่จะต้องนำไปฝังกลบ และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยให้บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับสัญญาจากกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบของโครงการจ้างเหมาเอกชน ให้เข้ามาดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นผู้ลงทุนดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการ  แบบ BOT (ก่อสร้าง-ดำเนินงาน-โอนสิทธิ์)

         โดยมีสถานที่ตั้งโครงการ อยู่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม มีพื้นที่ประมาณ 63,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 39 ไร่ กำลังการกำจัดขยะ 300-500 ตันต่อวัน (ตามกำลังการผลิตของโครงการ) การผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 9.8 MW ระบบเตาเผาแบบตะกรับ(Von Roll Stoker Type) 250 ตัน 2 ชุด มูลค่าโครงการ 960 ล้านบาท ระยะดำเนินโครงการ 20 ปี ส่งมอบโรงงานในสภาพที่สมบูรณ์ให้กับกรุงเทพมหานคร #ระบบการทำงานของโรงโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม ทั้งหมดถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ เริ่มต้นจากรถเก็บขยะนำขยะมาเทที่บ่อรับขยะ (ระบบปิด) 500 ตันต่อวัน เครนขนาดใหญ่ยักษ์ทำหน้าที่พลิกกลับขยะเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 35% ใช้เวลา 3-5 วัน หลังจากลดความชื้น เครนจะคีบขยะ (คีบละ 4 ตัน) เข้าสู่เตาเผา การเผาใช้อุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เถ้าหนักและเถ้าเบาหลังการเผาไหม้ จะนำไปตรวจสอบและกำจัดตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (นำไปผลิตเป็นก้อนอิฐ) ขณะที่ความร้อนที่ได้จากการเผาขยะจะถูกนำไปต้มที่หม้อไอน้ำ เกิดไอน้ำแรงดันสูงป้อนเข้าสู่ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 9.8 เมกกะวัตต์ต่อวัน ปล่องสูง ๆ ของโรงงาน ทำหน้าที่ระบายไอร้อนหลังจากบำบัดคุณภาพอากาศแล้ว

      การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ : มีระบบควบคุมไอเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปลายปล่องระบายอากาศความสูง 80 เมตร ติดตั้งจอแสดงผลคุณภาพอากาศ ผ่านจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบ

เสียง : ติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียงไว้ที่เครื่องจักร เพื่อควบคุมเสียงดังจากกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ปลูกต้นไม้สูงบริเวณแนวรั้วโครงการ เพื่อเป็นแนวกั้นเสียง

น้ำเสีย : ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อรวบรวมและบำบัดให้มีคุณภาพ น้ำเสีย/น้ำทิ้ง ที่ผ่านการบำบัดแล้วจะนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ จึงไม่มีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
 
กากของเสีย : เถ้าหนัก จะนำไปตรวจสอบสารอันตรายก่อนนำไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ ซึ่งจะเหลือส่วนที่ต้องฝังกลบเพียง 25% ของปริมาณขยะ ส่วนเถ้าเบา ถูกดับจับด้วยผงถ่านกัมมันต์ และตกอยู่ในถุงกรองที่มีความละเอียดสูง และจัดส่งให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตนำไปกำจัดต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ ลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย อันมาจากมูลฝอยที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม ใช้พื้นที่น้อย เมื่อเทียบกับวิธีการฝังกลบ และที่สำคัญสามารถตั้งอยู่ในตัวเมืองได้ และใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะ มาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย