ถวายชัยมงคล ม.ราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา
ถวายชัยมงคล ม.ราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์ย่านมัทรี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ประธานในพิธี ถวายเครื่องราชสักการะ และเปิดกรวยดอกไม้ จากนั้นคณะผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พร้อมผู้นำนักศึกษา ถวายเครื่องราชสักการะ ประธานในพิธีกล่าวถวายชัยมงคล วงดนตรีสาขาวิชาดนตรีศึกษา บรรเลงและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีจอมราชา ต่อจากนั้นประธานในพิธีนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ต่อด้วยการแสดงรำถวายพระพร โดยนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการดนตรีและศิลปะการแสดง และบรรเลงเพลงประกอบการแสดง โดยวงดนตรีไทย สาขาวิชาดนตรีศึกษา จากนั้นอธิการบดี คณะผู้บริหาร และผู้ร่วมพิธีร่วมลงนามถวายชัยมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อมาในเวลา 11.00 น. อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ทำกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ร่วมปลูกต้นไม้บริเวณสนามฟุตบอล ศูนย์กีฬาอเนกประสงค์ ม.ราชภัฏนครสวรรค์ ศูนย์ย่านมัทรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อชาวราชภัฏทั่วประเทศ โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ.2521 ตราบถึงปัจจุบัน มีบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมากกว่า 2.3 ล้านคน โดยภายหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2560 โอกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า
” ….. ข้าพเจ้าได้ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้รู้สึกมีความสุขและผูกพันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหลายอย่างมาก ไปทุกครั้งก็มีความสุข อยากให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค และท้องถิ่นจริงๆ จังๆ ในเรื่องการดำรงชีวิต ในเรื่องความรู้ทั่วไป และข้อสำคัญคือผลิตคนดี ผลิตคนดีที่เห็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคม คิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่เป็นประโยชน์และเป็นกลไกที่พัฒนาประเทศได้อย่างยิ่ง ถ้าหากตั้งใจ ร่วมกันและคุยกันมากๆ จะเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาประเทศและประชาชนได้อย่างมาก…..”
นับเป็นพระบรมราโชบายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏน้อมนำมาปฏิบัติตาม โดยได้น้อมนำมาจัดทำ “ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ ตลอดจนพัฒนาครูและโรงเรียนให้มีคุณภาพ ตามพระราชดำริ “การศึกษาคือความมั่นคงของประเทศ” โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันทำงานเข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น “มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ซึ่งตั้งครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทำงานสนองพระบรมราโชบายอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจได้สมบูรณ์ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคมเป็นที่ประจักษ์ โดยมีมิติของมหาวิทยาลัยเพื่อพลังแผ่นดินในสามด้านคือ ท้องถิ่นมีพลัง ครูมีพลัง และคนมีพลัง” นับเป็นการสนองพระบรมราโชบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริต่างๆ ของ “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสืบไป
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์