อบต.ไชยบุรี โมเดลนำร่อง จัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ชุมชนแฮปปี้ สร้างอาชีพมีรายได้หมุนเวียนเกือบล้านบาท ด้าน Node Flagship ม.นครพนม เล็งสนับสนุนพื้นที่เป้าหมายเพิ่ม
นางเกษา ไชยศล อายุ 60 ปี พร้อมสมาชิกเพื่อนบ้านในตำบลไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นำขยะที่ได้จากการคัดแยกในครัวเรือน นำมาชั่งกิโลขายให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี ซึ่งวันนี้นางเกษา บอกว่า ตนได้ลังกระดาษและขวดแก้ว จำนวน 10 ลัง ขายครั้งหนึ่งจะได้เงินเข้าบัญชี 200-300 บาท โดยขายมาแล้ว 6 ครั้งด้วยกัน ถือเป็นการสร้างมูลค่าจากขยะให้กลายเป็นเงิน "วันนี้มีลังกระดาษและขวดแก้วมาขาย 5-10 ลัง มาขายแล้ว 6 ครั้ง ตอนนี้มีเงินสะสมในบัญชี 1,400 บาท พอทาง อบต. มีโครงการนี้มา เราเลยคิดว่าดีกว่าที่เราจะทิ้งขว้างไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็เลยมาเข้าร่วมโครงการกับทาง อบต. เพราะมันมีสวัสดิการให้กับสมาชิกเราด้วยค่ะ" นางเกษา กล่าว นางสาวมาริสา ดวงสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี ผู้ผลักดันโครงการธนาคารขยะในพื้นที่ เปิดเผยว่า ในชุมชนมีประชากร 2,000 ครัวเรือน ขณะนี้มีสมาชิกที่มาเข้าร่วมกับโครงการและมีรายได้จากการขายขยะกว่า 1,500 ครัวเรือน หรือมีรายได้หมุนเวียนอย่างน้อย 5 แสนบาท นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ 80 % จากการมีส่วนร่วมของชุมชน
"เราให้ความรู้กับชาวบ้านในการคัดแยกขยะก่อน จากนั้นเราก็จัดเวทีประชุมรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ เราจัดตารางขายขยะให้ชาวบ้านเดือนละ 1 รอบ ชาวบ้านให้ความสนใจตรงที่ว่าเราทำแล้วมันประสบความสำเร็จ โครงการมันเห็นเป็นรูปธรรม วันที่เราซื้อขยะให้กับชาวบ้าน ก็จะมีผู้ประกอบการขยะรีไซเคิลมารับซื้อขยะถึงที่เลยค่ะ ซึ่งทาง อบต ก็จะจดบันทึกรายงานการเงินในบัญชีให้กับชาวบ้านได้ทราบข้อมูลการเงินทุกครั้งในบัญชี โปร่งใส ตรวจสอบยอดได้ทุกครั้งค่ะ" นางสาวมาริสา กล่าว
ด้านนายไชยา จิตพิมพ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี บอกว่า ปัญหาขยะในพื้นที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะจำพวกถุงพลาสติก บวกกับบ่อทิ้งขยะที่เหลือพื้นที่ฝังกลบในปริมาณที่จำกัดด้วย จากข้อมูลสถิติพบว่ามีปริมาณขยะสะสมในเขตพื้นที่ตำบลไชยบุรีมากถึง 30 ตันต่อเดือน นับเป็นภาระและการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างสูง "ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ เรามองว่ามันเป็นภาระมากกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เราทำในเรื่องการบริการ ฉะนั้นภาระเราจะมีมาก ในส่วนปริมาณขยะที่ไม่ผ่านการแยกตั้งแต่ต้นทาง มันก็จะสร้างปัญหาให้กลางทาง และปลายทาง มันเลยเกิดประเด็นว่าเราจะจัดการกันยังไง ให้ชาวบ้านจัดการกับขยะต้นทางสร้างมูลค่าให้กับขยะดีไหม ?" นายไชยา กล่าว ระบบการรับซื้อขยะของที่นี่จะใช้เขตพื้นที่บริเวณวัด เปิดรับซื้อขยะจากชาวบ้านตั้งแต่เช้า โดยให้ชาวบ้านนำขยะที่ผ่านการคัดแยกจากครัวเรือน จัดวางตามลำดับบัตรคิว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสาคอยอำนวยความสะดวก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการชั่งน้ำหนักและจดบันทึกรายการขยะ พร้อมจำนวนเงินที่ได้จากการขายลงในสมุดคู่ฝากธนาคารขยะรีไซเคิล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีจัดการโอนเงินให้กับชาวบ้าน ด้วยขั้นตอนที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับสิทธิ์คุ้มครองกรณีการเสียชีวิต ครอบครัวละ 30 บาท ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก 843 ครัวเรือน ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้ค่าทำศพเป็นเงินกว่า 25,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกที่เข้าร่วมร่วมโครงการ นางสาวมาริสา ดวงสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี ยังกล่าวเสริมอีกว่า หากชาวบ้านจะเข้าร่วมสวัสดิเป็นสมาชิก ชาวบ้านจะต้องขายติดต่อกัน 6 เดือน และต้องมีเงินจากการขายขยะอย่างน้อย 300 บาท ถึงจะได้สิทธิ์คุ้มครองกรณีเสียชีวิตของทุกคนในครัวเรือน ซึ่งเราคาดการณ์ไว้ว่าไม่เกิน 3-4 เดือนข้างหน้า เราจะมีเงินช่วยเคสที่เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นบาท นางสาวมาริสา กล่าวเสริม
โครงการธนาคารขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี มีพื้นที่นำร่อง 5 หมู่บ้าน และกำลังขยายพื้นที่เป้าหมายต่อให้ครบทั้ง 17 หมู่บ้าน นอกเหนือจากที่คัดแยกขยะรีไซเคิลทั่วไป ในชุมชนยังมีสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน นำลอตเตอรี่เก่าจากการเปิดรับบริจาคขององค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี ทำเป็นดอกไม้จันทน์ และรับซื้อคืนจากกลุ่มแม่บ้าน ในราคาดอกละ 1 บาท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานต่อไป โดยเฉลี่ยใน 1 เดือน แม่บ้านกลุ่มนี้สามารถทำดอกไม้จันทน์ได้มากถึง 30,000 ดอก มีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท หรือ 2,000 บาทต่อคน นางวีวรรณ เจริญขันธ์ กลุ่มแม่บ้านผลิตดอกไท้จันทน์ กล่าวว่า "การทำดอกไม้จันทน์ วัสดุและอุปกรณ์ของเราจะมี ธูป เทียน ไม้จันทร์ ลอตเตอรี่เก่า และกาว กลุ่มของเราทำส่งให้กับทาง อบต. ดอกละ 1 บาท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ หรือขายต่อให้กับบุคคลภายนอก กลุ่มแม่บ้านเราก็มีรายได้ในส่วนนี้ด้วยค่ะ กลุ่มเรามีสมาชิก 10 คน 1 คน สามารถทำได้ 100 ดอก/วัน ตกรอบเดือนก็ได้ประมาณ 30,000 ดอก" นางวีวรรณ กล่าว นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มแม่บ้าน ร่วมกันทำพวงหรีดจากลอตเตอรี่เก่าด้วยเช่นกัน ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี ได้รับซื้อต่อจากชาวบ้าน ในราคาพวง 300 บาท หรือแม้กระทั่งการแปรรูปจากเศษวัสดุอย่างเช่นซองกาแฟ นำมาถักสานทำเป็นกระเป๋าใช้สอย นับว่าเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จากโครงการธนาคารขยะ ด้าน ดร.คณิน เชื้อดวงผุย ผู้จัดการหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ ของมหาวิทยาลัยนครพนม หรือ Node Flagship จ.นครพนม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นการเฟ้นหาพื้นที่เป้าหมาย เพื่อที่จะผลักดันและพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามบริบท ทั้งด้านสุขภาพผู้สูงอายุ และการบริหารจัดการขยะ ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ” จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สร้างสรรค์โอกาส สำนัก 6) ซึ่งตำบลไชยบุรีเป็นพื้นที่สอดคล้องกับการดำเนินงาน โดยเฉพาะปัญหาขยะที่รอการแก้ไข "เป้าหมายของไชยบุรี คือ ขยะต้องลดลง ฉะนั้นการพัฒนาข้อเสนอโครงการก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้หน่วยงานผู้รับทุนคิดเป็นระบบในการแก้ปัญหา ส่วนหนึ่งในการยื่นข้อเสนอเข้ามารับทุนก็ขึ้นอยู่กับตัวนายก (ผู้นำ) ในพื้นที่ด้วย ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา และต้องอาศัยทุนจากองค์กรภายนอกเข้ามาสนับสนุนงานที่ อบต. ทำด้วย เพราะการจัดการขยะเป็นบทบาทของ อปท. ที่ต้องทำอยู่แล้ว" ดร.คณิน กล่าว
การดำเนินงานของ Node Flagship เป็นการขยายพื้นที่ต่อเนื่องในปีที่สอง เพิ่มอีก 25 พื้นที่ โดยแบ่งเป็นประเด็นสุขภาพผู้สูงอายุ 16 พื้นที่ และประเด็นการจัดการขยะอีก 9 พื้นที่ ไม่เพียงแค่สร้างกลไกการทำงานระดับพื้นที่เท่านั้น การประสานงาน สร้างการมีส่วนร่วมในภาคียุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการจัดการขยะ ให้เกิดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างชุมชนเมืองน่าอยู่ ควบคู่กับความปลอดภัยในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
ภาพ/บทความ/สกู๊ปข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น