บุรีรัมย์-ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงหมายเลข 2445 ต.แสลงโทน บ.ไพบูลย์ จ.บุรีรัมย์ หวั่นกระทบชาติพันธุ์สัตว์ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ นกกระสาปากเหลืองและนกอีกหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธ์  

       บุรีรัมย์-ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงหมายเลข 2445 ต.แสลงโทน บ.ไพบูลย์ จ.บุรีรัมย์ หวั่นกระทบชาติพันธุ์สัตว์ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ นกกระสาปากเหลืองและนกอีกหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธ์
            วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นาย สิงหชัย ผ่องบุรุษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  เป็นประธานเปิดการประชุมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงหมายเลข 2445 ต.แสลงโทน บ.ไพบูลย์ จ.บุรีรัมย์ ณ ห้องประชุมโนนสุวรรณ โรงแรมเทพนคร จังหวัดบุรีรัมย์  ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ประชาชนชาวตำบลแสลงโทน ที่ได้รับผลกระทบ และสื่อมวลชน เข้าร่วมและเป็นสักขีพยาน นายณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงหมายเลข 2445 ต.แสลงโทน บ.ไพบูลย์ จ.บุรีรัมย์  ในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษา และผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อผลการศึกษาในแต่ละด้านของโครงการ และนำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการขนส่งและจราจร ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมในระยะ 500 เมตร จากจุดกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติระบบนิเวศน์ของสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินานาชนิด 
       
         นาย สิงหชัย ผ่องบุรุษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า  โครงการฯ นี้ เมื่อกรมทางหลวงมีแผนพัฒนาให้เป็น 4 ช่องจราจร ตลอดแนวเส้นทาง จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอประโคนชัยและอำเภอบ้านกรวด รวมทั้งยังเป็นเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งรวมถึงเป็นทางเชื่อมต่อด่านชายแดนไทย – กัมพูชา นับว่าเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากจากการตรวจสอบพื้นที่โครงการฯ พบว่า แนวเส้นทางโครงการตัดผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมทั้งพบโบราณสถานอยู่ในระยะ 1 กิโลเมตรจากจุดกึ่งกลางแนวเส้นทาง คือ ชุมชนบ้านเสม็ด ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ ทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนการก่อสร้าง จึงดำเนินการศึกษาโครงการและเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด ในเวทีประเมินในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะทำงาน และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ให้รายละเอียดในการศึกษาโครงการฯตลอดระยะเวลา 2 ปี ประกอบด้วย ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูน ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประชาสัมพันธ์ นายสานนท์ วรงค์สุรัติ วิศวกรโครงการ นางรังษิยา กมลพนัส ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม
       
           ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูน ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า จากศึกษาโครงการพบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีความสำคัญระดับนานาชาติ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นและนกอพยพจำนวนมาก ทั้งชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เช่น นกกระสาปากเหลือง ชนิดใกล้สูญพันธุ์เช่น เหยี่ยวดำ นกอ้ายงั่ว นกกาน้ำใหญ่ ชนิดที่มีแนวโน้มใกสัสูญพันธุ์ เช่น นกกระสาแดง และชนิดที่ใกล้ถูกคุกคามเช่น นกแสก นกฮีลุ้ม นกกระจาบธรรมดา และนกกระติ๊ดแดง และเป็นแหล่งทำการประมงน้ำจืดที่สำคัญในท้องถิ่น ได้มีการศึกษา และวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
                                                            ////
คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ
ชาติ มหาชน ศูนย์ข่าวทีวีประชาชนออนไลน์/รายงาน