ม.นครพนม ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยสุขภาพ เตรียมนำร่องทดสอบระบบ Innovation Sandbox รับมือภาวะโรคเบาหวาน โดยนครพนมเป็นพื้นที่แรกในภาคอีสาน   

      ม.นครพนม ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยสุขภาพ เตรียมนำร่องทดสอบระบบ Innovation Sandbox รับมือภาวะโรคเบาหวาน โดยนครพนมเป็นพื้นที่แรกในภาคอีสาน

          มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผสานพลังเครือข่ายด้านสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และ โรงพยาบาลนครพนม เตรียมนำร่องใช้นวัตกรรมบริการเสริมสุขภาพกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้พื้นที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ดำเนินงาน ภายใต้โครงการ “ทดสอบระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพเขตเมือง : กรณีควบคุมโรคเบาหวานด้วยชีวิตวิถีใหม่และการแพทย์วิถีใหม่ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดฉุกเฉินที่กำลังผันเป็นโรคประจำถิ่น” โดยมีนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ชั้น 3 สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

         ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ในฐานะประธานผู้เอื้อการเรียนรู้เสริมหนุนการจัดการร่วมข่ายงานจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวเป็นการทดสอบการใช้ระบบ ซึ่งระบบนี้ถูกใช้ทดสอบมาแล้วในเขตเมือง กทม. แต่พื้นที่ภาคอีสานยังไม่มีการทดสอบใช้ เราถือว่านี่เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของภาคอีสานที่มีการทดสอบก่อนเป็นที่แรก หรือที่เรียกว่า Innovation Sandbox หากเราทดสอบใช้แล้วมันได้ผล เราสามารถที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้ในบริบทที่คล้ายกัน โดยระบบตัวนี้จะช่วยควบคุมป้องกันบุคคลที่มีภาวะที่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หรือคนที่เป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งมีเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เป็นพันธุกรรมบวกกับการเจ็บป่วยในเรื่องโควิด19 ซึ่งระบบนี้จะช่วยเพิ่มการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเบาหวาน หรือภาวะเบาหวาน กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีเหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่เป็นพรีเบาหวาน (ก่อนเป็นเบาหวาน) คือ มีน้ำตาลในเลือดสูงแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์เป็นเบาหวาน กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นเบาหวานแล้วแต่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน และ กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่เป็นเบาหวานและเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ในทั้ง 5 กลุ่มนี้ หากเราใช้ระบบเข้าไปทำงาน เราจะสามารถจำแนกทั้ง 5 ลักษณะกลุ่มประชากรได้ ซึ่งจะมีข้อมูลระดับบุคคลละเอียดกว่าที่หน่วยบริการระบบสุขภาพเคยทำมา” ผศ.ดร.เบญจยามาศ กล่าว. การทำงานของระบบ เบื้องต้นผู้ใช้บริการที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องกรอกข้อมูลประวัติส่วนตัว พฤติกรรมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดปัจจัยของเบาหวาน หรือคนที่เป็นแล้วมีการดูแลตัวเองอย่างไร มีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขนาดไหน และเมื่อป้อนข้อมูลเข้าสู่ในระบบเรียบร้อย จากนั้นระบบจะทำการรันข้อมูลออกมาว่า ผู้ใช้บริการหรือผู้ประเมินอยู่ในกลุ่มไหน จากนั้นจะเข้าสู่การจัดบริการที่เป็นแผนการดูแลใน 3 ระดับต่อไป คือ ระดับบุคคลครอบครัว ระดับชุมชน และระดับหน่วยงานท้องถิ่น ที่จะเข้ามาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน 100 คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “ขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมที่ดูแลรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอันเกิดจากการถ่ายโอนทั้งหมด 15 แห่ง เป็นหน่วยปฐมภูมิดูแลควบคุมอยู่แล้วโดยเฉพาะเรื่องของโรคเบาหวาน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมพร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากโครงการประสบความสำเร็จก็จะเกิดผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ให้สามารถควบคุมและลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งก็จะทำให้ภาระของโรงพยาบาลลดน้อยลงตามไปด้วย ผู้ป่วยลดการทานยาลง ส่วนคนที่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานก็จะสามารถรู้จักการดูแลและควบคุมตนเองได้ด้วยเช่นกัน” นายจิรวัฒน์ กล่าว

        นายสมชาย แสนลัง ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานของจังหวัดนครพนมแนวโน้มสูงขึ้น มีผู้ป่วยลงทะเบียนรักษากับหน่วยบริการสาธารณสุขกว่า 3,000 คน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากคนที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่คนในนครพนมจะต้องดำเนินการคือเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเบาหวานและโรคความดัน เนื่องจากประชาชนยังขาดความรอบรู้เรื่องสุขภาพของตนเอง หากโครงการนี้เข้ามาจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 ส่วน คือ 1. คนที่เป็นผู้ป่วยจะได้รับรู้เรื่องโรคเบาหวานที่ควรจะต้องปฏิบัติตัว 2. ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือในด้านการจัดการกับโรคเบาหวาน และ 3. จะส่งผลต่อระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ที่จะสามารถเชื่อมต่อและรับบริการทางด้านสาธารณสุข หากโครงการนำร่องประสบความสำเร็จ อยากจะให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมที่ดูแลและรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ขยายผลต่อไปอีกทั้ง 15 แห่ง เพื่อให้ชาวบ้านมีการจัดการโรคเบาหวานได้ด้วยตนเอง ซึ่งนั่นก็จะสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในด้านสุขภาพ” นายสมชาย กล่าว.

        ด้าน นายแพทย์ขวัญชัย ประเสริฐยิ่ง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนครพนม เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเบาหวานไม่ได้มองว่าเป็น “โรค” มันคือ “ภาวะ” ที่เป็นแล้วสามารถหายได้ ไม่ใช่เป็นแล้วเป็นตลอดไป อย่างไรก็แล้วแต่เบาหวานไม่ควรหยุดทานยาเอง ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ติดตามผลเลือดและหยุดยาให้ เพราะประชาชนหลายคนอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเราต้องเริ่มให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่า เบาหวานมีความรุนแรงหรือน่ากลัวอย่างไรที่จะให้ทุกคนตระหนัก หากมีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนก็จะง่ายกับการเข้าถึงข้อมูล หากมองลึก ๆ แล้ว โครงการนี้จะสร้างประโยชน์หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความตระหนัก โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาร่วมในการทำงาน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ได้ดีขึ้น ตั้งแต่เรื่องของการป้องกันให้ความรู้ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงจากการเป็นเบาหวาน หรือแม้กระทั้งกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้ารับการคัดกรอง” นายแพทย์ขวัญชัย กล่าว.

สอดคล้องกับ นางธิสาชล ธันยาวราธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอาจสามารถ ที่กล่าวว่า “ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน จากประชากรทั้งหมด 3,399 คน ซึ่งเหตุปัจจัยมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วย เพราะประเทศไทยมีช่วงฤดูกาลผลไม้ค่อนข้างเยอะ เช่น มะม่วง ลำไย สับปะรด ลิ้นจี่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่รับประทานอาหารประเภทหวานมากขึ้น ซึ่งปกติจะทาน 1-2 ชิ้น ก็อาจจะเพิ่มเป็น 2-3 ลูก หรือครึ่งกิโลกรัม จึงทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดเบาหวานเพิ่มตามมาด้วย ปัจจุบันการคัดกรองของโรงพยาบาล โดยเฉพาะระบบบริการผู้ป่วยเบาหวานที่ดูแลก็จะให้บริการเรื่องการจัดคลินิกเบาหวานในพื้นที่ของ มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในเบื้องต้นก่อน และที่สำคัญจะมีทีมสหวิชาชีพที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย (โรงพยาบาลนครพนม) เข้ามาดูแล จะมีแพทย์ร่วมตรวจรักษาและทีมเภสัชกรที่เข้ามาร่วมในการปรับและลดยากับผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ หากมีนวัตกรรมจากระบบตัวนี้เข้ามา น่าจะตอบโจทย์ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีในด้านการส่งเสริมสุขภาพ พฤติกรรมของผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงการป้องกันเบื้องต้น เพราะทุกคนต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันเบาหวาน” นางธิสาชล กล่าว.