พัฒนาสาหร่ายผักกาดทะเล สู่ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง ตามที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี   

       พัฒนาสาหร่ายผักกาดทะเล สู่ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง   ตามที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี  ตามที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และเครือข่ายร่วมพัฒนาพืชทะเลในประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่า ขยายโอกาสทางการตลาด ภายใต้แนวทาง ปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ตลอดถึงระบบนิเวศชายฝั่งให้เกิดความสมดุล ภายใต้การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

         นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่าทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการเชิงรุก นอกจากการสาธิตจากผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จภายในศูนย์ฯ แล้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อขยายผล เบื้องต้นมี 3 ชุมชน ประกอบด้วยวิสาหกิจชุมชนแหลมสิงห์จันทบุรี  วิสาหกิจชุมชนธนาคารบ้านปลาธนาคารปู และกลุ่มแม่บ้านแปรรูปหอยนางรม ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งที่ต่างกัน ตั้งแต่การส่งเสริมการท่องเที่ยว ไปจนถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละชุมชนจะมีกลุ่มที่ร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ครัวเรือนสาหร่ายผักกาดทะเลเป็นอีกหนึ่งชนิดพืชทะเลที่นำมาส่งเสริมขยายผล โดยนำมาจากธรรมชาติ  ซึ่งนำมาขยายพันธุ์
เมื่อปี 2544 และมีปริมาณมากเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ  ได้  โดยเฉพาะการนำมาเป็นอาหารสำหรับคนเรา  ตลอดถึงการเก็บรักษา หรือแปรรูปเพื่อให้มีอายุที่ยาวนานขึ้น   เช่น หมี่กรอบสาหร่าย เครื่องสำอาง และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพจากสาหร่าย  เป็นการเพิ่มมูลค่าของสาหร่ายทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาขายสาหร่ายผักกาดทะเลในปัจจุบันแบบสดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 - 500 บาท เมื่อแปรรูปแล้ว หรือเป็นแบบแห้งราคาก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000 บาท เป็นการส่งเสริมอาชีพที่เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนฐานรากเป็นอย่างดี ที่สำคัญสาหร่ายผักกาดทะเลยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ ได้ดีอีกด้วย ” นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น กล่าว  
ด้านนายสถิตย์ แสนเสนาะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.บางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เผยว่า การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลไม่ต้องลงทุนเยอะ นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ราษฎรสามารถต่อยอดได้ การดูแลรักษาง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้ประโยชน์ได้มากแถมมีคุณค่าทางอาหารสูง  “สมาชิกกลุ่มศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านปลาธนาคารปู เกิดจากการต่อสู้ของคนในชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งพื้นที่มีลักษณะ 3 น้ำคือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ซึ่งจะมีแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ ทำให้สัตว์น้ำเข้ามาอาศัยหากินเป็นจำนวนมาก เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา จะมีมาก”  นายสถิตย์ แสนเสนาะ กล่าว            

 

             สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเลที่ทางกลุ่มฯ นำมาส่งเสริมให้สมาชิกเพาะเลี้ยงนั้นนายสถิตย์ แสนเสนาะ บอกว่า  เป็นหนึ่งกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ ที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาเพื่อการประกอบอาชีพของสมาชิก  เพราะไม่ต้องให้อาหาร ไม่ต้องเสียค่าน้ำ ขณะที่สามารถเก็บผลผลิตได้มากอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ประมงจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เข้ามาเป็น พี่เลี้ยงให้คำแนะนำการเพาะเลี้ยงและเก็บเกี่ยวตลอดถึงการแปรรูปอย่างต่อเนื่อง  ส่วนนางรัชดาภา  จำปาสร  สมาชิกกลุ่มหอยนางรมครบวงจรคุ้งกระเบน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่าอดีตเลี้ยงหอยนางรมแต่ไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ  ได้นำไปพบกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่เนื่องจากหอยนางรมมีวงรอบในการผลิต มีช่วงที่ผลผลิตออกมามาก และช่วงที่ไม่มีผลผลิตจึงทำให้ราคาขายไม่แน่นอน ขณะเดียวกันระบบการเลี้ยงแบบกระชังที่ดำเนินการนั้นช่วงที่หอยนางรมมีการเจริญเติบโตจะมีน้ำหนักมากต้องใช้แรงมากในการเก็บ ประกอบกับแพที่ใช้เลี้ยงก็เกิดความเสียหายเร็วทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้   “ ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้นำไปพบกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรีเพื่อหาแนวทางการพัฒนาผลผลิต ทางมหาวิทยาลัยส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาวิจัย พบว่าการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ โดยนำหอยนางรมและสาหร่ายผักกาดมาเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเกรียบหอยนางรม ข้าวเกรียบกุ้ง  ข้าวเกรียบปลาหมึก  ข้าวเกรียบสาหร่ายผักกาดทะเล  บะหมี่สาหร่ายผัดกาดทะเล หมี่กรอบสาหร่ายผักกาดทะเล หมี่กรอบน้ำพริกหอยนางรม ขนมขาไก่สาหร่ายพวงองุ่น  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่า 5 เดือน ผลตอบรับดีขึ้น จึงทำให้ในปัจจุบันมีรายได้อย่างต่อเนื่อง” นางรัชดาภา  จำปาสร  กล่าว           

            สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเลนั้น เป็นสาหร่ายสีเขียวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นที่นิยมรับประทานในประเทศสก๊อตแลนด์ ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง ได้ทำการเพาะเลี้ยงและประสบผลสำเร็จสามารถขยายพันธุ์สู่การเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตชีวมวลสาหร่ายขนาดใหญ่ได้ และพบว่าสาหร่ายผักกาดทะเลเป็นแหล่งของโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ที่สามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์น้ำนอกจากอาหารสำหรับคนได้เป็นอย่างดี  เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ  และมีแนวโน้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต

ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบนฯ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพัฒนาและขยายผลการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล โดยใช้ธาตุอาหารจากบ่อเลี้ยงปลานิลแดง และพัฒนาระบบการเลี้ยงที่ได้รับรองมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยจัดทำ “โรงเรือนต้นแบบ” เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกร โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพาะเลี้ยงทำให้มีคุณภาพดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถขยายตลาด สร้างโอกาส และรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

........................................