พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่และราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะ เชิญสิ่งของพระราชทาน จำนวน 323 ชุด ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคง
ได้แก่ ชุดควบคุมตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรทุ่งยางแดง และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ณโรงเรียนบ้านพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ สร้างความปลอดภัยและความผาสุกให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประเทศชาติ พร้อมกันนี้ องคมนตรี ได้พบปะพูดคุย พร้อมกับเชิญพระราชกระแส ทรงห่วงใยและกำลังใจ กล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในครั้งนี้
ต่อมา รับฟังสรุปประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมภาษาของหมู่บ้านพิเทน โอกาสนี้ ได้เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่ผู้แทนโรงเรียนบ้านพิเทน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีอุปกรณ์กีฬาในการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจพร้อมกับเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้านพิเทน
จากนั้นองคมนตรี และคณะเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบ้านพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมและรับทราบชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2536 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมพสกนิกรในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ณ ศาลาเตือนใจ บ้านพิเทน หมู่ที่ 2 ทรงรับทราบถึงปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎร จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการศิลปาชีพบ้านพิเทน จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการทอผ้าด้วยกี่กระทบ และโครงการปักผ้า พร้อมกันนี้ได้พระราชทานทุนทรัพย์ให้แก่สมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม และอุปกรณ์ปักผ้า นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างศูนย์ศิลปาชีพบ้านพิเทน โดยมีนายนิโซะ หะมะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านพิเทน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินสำหรับใช้ในการก่อสร้างฯ
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านพิเทน ประกอบด้วย 1)กลุ่มทอผ้า มีสมาชิกทั้งหมด 98 คน สามารถทอผ้าได้จำนวน 20 คน ทอผ้าได้เดือนละ 1 ชิ้น ความยาว 38 เมตร 2)กลุ่มปักผ้า มีสมาชิก 48 คน สามารถปักผ้าได้จำนวน 12 คน ปักผ้าได้คนละ 1 – 4 ชิ้น รายได้ขึ้นอยู่กับลวดลายและขนาดของผ้าที่ปัก (ประมาณชิ้นละ 2,000 – 15,000 บาท) ในปี 2563 สามารถปักผ้าได้ 24 ชิ้น 3)กลุ่มแกะสลักไม้ เริ่มจัดตั้งกลุ่มฯ เมื่อปี 2542 ปัจจุบันมีสมาชิก 10 คน สมาชิกสามารถผลิตได้คนละ 2 - 3 ชิ้น ในปี 2563 สามารถแกะสลักไม้ได้รวม 28 ชิ้น โดยชิ้นงานที่แต่ละกลุ่มผลิตได้ทั้งหมดจะจัดส่งขายให้กับสำนักพระราชวังโดยตรงต่อไป
ต่อมาในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังเมืองโบราณยะรัง ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปประวัติความเป็นมาเมืองโบราณยะรัง (อาณาจักรลังกาสุกะ) และเยี่ยมชมโบราณสถานของเมืองโบราณยะรัง
เมืองโบราณยะรัง จากการศึกษาและพัฒนาการเมืองโบราณยะรัง พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 เมืองโบราณยะรังได้พัฒนากลายเป็นเมืองที่สำคัญทางพุทธศาสนาโดยพบโบราณสถานและโบราณวัตถุในศาสนาพุทธมหายานจำนวนมากในบริเวณบ้านวัด และบ้านจาเละ จากนั้นเมืองโบราณยะรัง ได้กลับมาเจริญอีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21 ที่บริเวณบ้านประแว โดยพบหลักฐานการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำคันดินและป้อมทั้งสี่มุมเมือง ต่อมาเมืองโบราณยะรังค่อยๆ หมดความสำคัญลง เมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ชื่อ “เมืองปัตตานี” ที่บริเวณบ้านกรือเซะ-บานา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 เมืองโบราณยะรังครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลยะรัง และตำบลวัด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ คือ กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ และเมืองโบราณบ้านประแว
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.