องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อส่งน้ำไปช่วยพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำนี้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี  

               องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.ราชบุรี

         วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566 ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี รับฟังรายงานสรุปภาพรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดราชบุรีจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โอกาสนี้ กรมชลประทานได้รายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อยู่ระหว่างการติดตามและขับเคลื่อน จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำรางขยี (อ่านว่า ราง-ขะ-ยี) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ     

           ในตอนบ่าย คณะฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยรับฟังบรรยายสรุปจากผู้แทนกรมชลประทาน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริสรุปความว่า “ควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบนลำน้ำห้ว ยท่าเคย เพื่อส่งน้ำไปช่วยพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำนี้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี” กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำเมื่อปี 2539 แล้วเสร็จในปี 2545 ลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุที่ระดับเก็บกัก 23,400,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทุกปีเนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนจากป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีระบบส่งน้ำเป็นท่อเหล็กและท่อพีวีซี ความยาวรวมประมาณ 13.37 กิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,500 ไร่ จำนวนสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ 282 ราย ราษฎรได้รับประโยชน์ประมาณ 650 ครัวเรือน 2,500 คน นอกจากประโยชน์ในด้านเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคแล้ว อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้นิยมเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย โอกาสนี้ องคมนตรีได้เยี่ยมชมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยฯ   

        ต่อมาคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่การเกษตรของราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยฯ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย แปลงไม้ผลของนายชัชวาล นรนิ่ม (สวนตาชัช “หลงบ้านคา” ทุเรียนอารมณ์ดี) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 18 ไร่ เดิมทำสวนยางพารา ไร่สับปะรดและมันสำปะหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ผสมผสานกับไม้ผลอื่น ๆ และไม้ป่าเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ มีการปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์ รวมทั้งใช้หลักเกษตรอินทรีย์ในการเพาะปลูก โดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย ฯ เป็นแหล่งสนับสนุนน้ำให้กับสวนเกษตร ในปีนี้ได้จำหน่ายทุเรียนให้แก่กลุ่มเพื่อนและบุคคลที่รู้จัก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณ 100,000 บาท/ปี จากนั้นคณะฯ เดินทางไปยังแปลงมันเทศญี่ปุ่นของนายเพลิน แดงสะอาด (ไร่แดงสะอาด อาณาจักรมันหวานญี่ปุ่น) มีพื้นที่การเกษตรทั้งที่เป็นของตนเองและที่ดินเช่า รวมประมาณ 40 ไร่ เดิมปลูกหัวไชเท้าและสับปะรด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการปลูกมันเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนด้านความรู้และเทคนิคต่าง ๆ จากมูลนิธิโครงการหลวง และใช้น้ำจากระบบท่อส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บุตรชายของนายเพลินฯ ได้กลับมาช่วยครอบครัวทำการเกษตรและทำการจำหน่ายมันเทศญี่ปุ่นคุณภาพดีสายพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านทาง Facebook ในชื่อ “ไร่แดงสะอาด อาณาจักรมันหวานญี่ปุ่น” จนเป็นที่นิยมและมีเครือข่ายลูกค้าจำนวนมาก สามารถจำหน่ายผลผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ประมาณ 70,000-80,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 54 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำถึง 41 โครงการ และได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ราษฎรได้ประกอบอาชีพอย่างมั่นคงสืบไป

กองประชาสัมพันธ์ 
สำนักงาน กปร.