“เด็กโตนอกบ้าน ในสถานที่ไม่มีใครมองเห็น” เสวนาแนวทางเพื่อให้เด็กที่เติบโตนอกครอบครัว/ในสถาน ได้รับการดูแลที่เหมาะสม   

      “เด็กโตนอกบ้าน ในสถานที่ไม่มีใครมองเห็น”
เสวนาแนวทางเพื่อให้เด็กที่เติบโตนอกครอบครัว/ในสถาน ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

 

         วันนี้ 20 เม.ย. 66 เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเสวนาแนวทางเพื่อให้เด็กที่เติบโตนอกครอบครัว/ในสถาน ได้รับการดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กที่โตนอกบ้านโดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในสถานรองรับในประเทศไทยได้รับการคุ้มครอง เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัว และได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามช่วงวัย โดยในเวลา 16.00 น. นางอภิญญา ชมภูมาศ  อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  เป็นประธานพิธีปิดการเสวนา พร้อมพูดถึงแนวทางการดำเนินงานของเด็กในสถานรองรับสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางอภิญญา ชมภูมาศ  อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า สภาวะแวดล้อมของครอบครัว ถือเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กในประเทศไทยหลายคนถูกส่งไปอยู่ใน “สถานรองรับ” เช่น สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก หอพัก โรงเรียนประจำ ศาสนสถาน โรงเรียนสอนศาสนา และสถานที่ประเภทอื่นๆ ที่รับเด็กไว้ในการเลี้ยงดูเป็นระยะเวลาหนึ่งเพราะพ่อแม่ไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูลูก ซี่งสถานรองรับต่าง ๆ มีวิธีการเลี้ยงดูที่ต่าง    จากการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัว โดยเฉพาะการมีกิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัดเพราะมีเด็กที่อยู่ในการเลี้ยงดูเป็นจำนวนมาก การเลี้ยงดูดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก เช่น ความเสี่ยงในการเกิดภาวะผูกพันไม่มั่นคง การขาดโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง และการขาดทักษะในการอยู่ร่วมกับสังคมเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในครอบครัวและชุมชน

    

         กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตระหนักถึงสถานการณ์การเลี้ยงดูในรูปแบบสถานรองรับเด็กของประเทศไทย และมีเป้าหมายการขับเคลื่อนการดูแลเด็กในสถานรองรับและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กให้มีคุณภาพ สนับสนุนให้เด็กได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นครอบครัว ส่งเสริมสวัสดิการและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวให้สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ รวมถึงชุมชน และสังคมแวดล้อมต้องมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองเด็ก นำแนวปฏิบัติการเลี้ยงดูทดแทนของสหประชาชาติมาใช้เป็นกรอบในการทำงาน โดยยึดหลักแห่งความจำเป็นและความเหมาะสม ผ่านการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมทางครอบครัว และการมีมาตรฐานบริการของสถานดูแลเด็ก เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 – 2569 มุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์ 5 เรื่อง ได้แก่ 1) เด็กและครอบครัวที่มีความเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีอย่างเพียงพอและหลากหลาย 2) มีกระบวนการคัดกรองป้องกันการเลี้ยงดูทดแทนที่ไม่จำเป็นอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมการเลี้ยงดูทดแทนทุกประเภท 3) ทุกสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดูทดแทนมีมาตรฐาน เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก 4) มีทางเลือกด้านการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวเพิ่มขึ้น และลดการพึ่งพิงการเลี้ยงดูในรูปแบบสถาบัน และ 5) มีหน่วยประสานงานด้านการเลี้ยงดูทดแทนแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ 
    
        จากการรับฟังการนำเสนอข้อมูลการวิจัยจำนวนเด็กในจำนวนสถานรองรับเด็กในประเทศไทย และการเสวนาแนวทางเพื่อให้เด็กที่เติบโตนอกครอบครัว/ในสถาน ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะเป็นข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานรองรับเด็ก โดยเฉพาะสถานรองรับเด็กเอกชน ผนวกกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็ก 120,000 คน จะต้องได้รับการดูแล การคุ้มครอง และเข้าถึงบริการที่เป็นไปตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ และส่งเสริมให้เด็กได้กลับสู่การเติบโตอย่างอบอุ่นและปลอดภัยในสภาพแวดล้อมของครอบครัว โดยจะดำเนินการ ดังนี้
    1. จัดทำฐานข้อมูลจำนวนสถานรองรับเด็ก สำรวจข้อมูลเด็กที่อยู่ในการดูแลของสถานรองรับเด็กแต่ละประเภท และจัดบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็ก รวมถึงทบทวนการกำหนดนิยามสถานรองรับเด็ก ให้ครอบคลุมบริการและบริบททางสังคม 
ศาสนา และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การกำกับดูแลการดำเนินการของสถานรองรับเด็กที่ได้มาตรฐาน โดยในขณะนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำรวจจำนวนสถานรองรับเด็กเอกชนในแต่ละจังหวัดแล้ว และมีแผนขับเคลื่อนงานด้านการเลี้ยงดูทดแทนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อศึกษาสถานการณ์การเลี้ยงดูทดแทนในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนประเมินมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูทดแทนทุกรูปแบบ
    2. กำกับและติดตามการปฏิบัติงานภายใต้กรอบการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กในสถานรองรับเด็ก และเป็นมาตรฐานการดำเนินงานในสถานที่ให้การดูแลเด็กทุกประเภท เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทุกรูปแบบ รวมถึงสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อผลกระทบเชิงลบที่เกิดกับเด็กที่เติบโตภายในสถานรองรับเด็ก ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชน    มีการประกาศและนำนโยบายคุ้มครองเด็กในสถานรองรับไปปฏิบัติ จะมีการขยายและสนับสนุนการนำนโยบายคุ้มครองเด็กไปปรับใช้ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีเด็กอยู่ในการดูแลต่อไป
    3. เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกคัดกรองป้องกันการเลี้ยงดูทดแทนที่ไม่จำเป็น โดยการทำงานในเชิงป้องกันร่วมกับครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่สถานรองรับเด็กโดยไม่จำเป็น การจัดทำแผนการคืนสู่ครอบครัวแก่เด็กที่เข้ารับบริการภายในสถานรองรับเด็ก และจัดบริการการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวทดแทนอย่างหลากหลาย มีคุณภาพ เช่น บริการครอบครัวอุปถัมภ์เครือญาติ ครอบครัวอุปถัมภ์ และครอบครัวบุญธรรมแก่เด็กที่ประสบปัญหาทางสังคม
#พมช่วย24ชม #ช่วย24ชม #ข่าวพม #เพื่อเด็กและเยาวชน  #เด็กและเยาวชน #DCY #ดย
....................................................................