กีฬา อบต.ต้านยาเสพติด นายก อบจ.นครสวรรค์ เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาท้องถิ่นต้านยาเสพติด อบต.ตาขีด อ.บรรพตพิสัย เป็นกิจกรรมรณรงค์ป้องกันต่อต้านยาเสพติด  

        กีฬา อบต.ต้านยาเสพติด นายก อบจ.นครสวรรค์ เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาท้องถิ่นต้านยาเสพติด อบต.ตาขีด อ.บรรพตพิสัย

        เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มีนาคม 2566 พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาท้องถิ่นต้านยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมด้วย ร.ต.ท.พิทักษ์ พันธ์งิ้ว เลขานุการนายก อบจ.นครสวรรค์ และ สิบเอกพิทยา นาคกุญชร ณ สนามกีฬาโรงเรียนวัดธรรมรักขิตาราม ตำบลตาขีด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นางสาวพรทิพย์พา จรัสมั่นเขตกิจ นายก อบต.ตาขีด, นายไพศาล เชี่ยวชาญเวช ส.อบจ. เขต 2 บรรพตพิสัย, นายลัทธพล ม่วงจีบ ส.อบจ.เขต 3 บรรพตพิสัย เจ้าหน้าที่ อบต.ตาขีด และนักกีฬา ให้การต้อนรับ ซึ่ง อบต.ตาขีด ได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชนภายในตำบลตาขีด มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนภายในตำบลได้มีส่วนร่วม มีการออกกำลังกาย โดยใช้กีฬาและเพื่อให้กีฬาเป็นกิจกรรมรณรงค์ป้องกันต่อต้านยาเสพติด นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่าจันทร์, หมู่ที่ 2 บ้านตาสังเหนือ, หมู่ที่ 3 บ้านหนองเจ็ดหาบ, หมู่ที่ 4 บ้านตาขีด, หมู่ที่ 5 บ้านใหม่, หมู่ที่ 6 บ้านงิ้วแบ้, หมู่ที่ 7 บ้านโพธิ์ขวัญ และหมู่ที่ 8 บ้านดงคู้ ประเภทของการแข่งขันประกอบด้วย กีฬาสากล ได้แก่ ฟุตบอลชาย 7 คน, วอลเลย์บอลชายและหญิง, เซปัคตระกร้อชาย, เปตองชายและหญิง กีฬาพื้นบ้านได้แก่ เตะปีปผู้สูงอายุ, ตีกอล์ฟชายและหญิง, วิ่งเปรี้ยวซุปเปอร์แมน และปิดตาเทแป้งข้ามหัว

 

       โดย นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้กล่าวว่า “การจัดแข่งขันกีฬามีประโยชน์มากมาย นอกจากจะทำให้สุขภาพกายดี สุขภาพใจดีแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสื่อรณรงค์เพื่อให้คนในพื้นที่มีความตระหนักถึงโทษภัยของยาเสพติด ในส่วนท้องถิ่นเรา ต้องมองภาพให้ออกว่า ถ้าเป็นเรื่องของกระบวนการตั้งแต่เริ่มติดยาเสพติดจนถึงขั้นบำบัดรักษาแล้ว ถ้าเปรียบเป็นแม่น้ำแล้ว จะมีกระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำกับปลายน้ำจะเกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด ต้นน้ำก็คือ เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนหรือคนในพื้นที่มีวิธีคิดที่จะเบี่ยงเบนไปเป็นกลุ่มเสี่ยงในการใช้ยา ทำอย่างไรให้เขาเลือกคิด ทำอย่างไรให้เขาเดินไปในเส้นทางที่เป็นบวกต่อชีวิตของเขา เราก็ต้องหากิจกรรมที่ให้เขาเห็นว่ามีประโยชน์กับชีวิต เขาจะได้ไม่เดินไปในเส้นทางสุ่มเสี่ยงที่ใช้ยาเสพติด กลางน้ำก็คือ ขั้นตอนบำบัดรักษา สุดท้ายปลายน้ำ ก็คือขั้นตอนในการเข้าสู่ชุมชนสำหรับคนที่ผิดพลาดไปแล้ว บำบัดรักษาหายแล้ว จะสามารถกลับมาบ้านได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีหลายที่มากที่คนในพื้นที่ไม่ต้อนรับคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากให้ อปท.ทุกแห่งให้ช่วยบริหารในเรื่องต้นน้ำและปลายน้ำให้ดี ช่วยกันประคับประคองต้อนรับเขากลับบ้าน แล้วนำเข้าสู่ระบบ มีการทำกิจกรรมสำหรับคนกลุ่มนี้อีก”
////
ชาติชาย/นครสวรรค์