สำนักงาน กปร. นำสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ได้นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในโครงการสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ ลงพื้นที่เยี่ยมชม เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
โดยมี ดร.เครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ความเป็นมาและผลการดำเนินงานที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
โอกาสนี้เจ้าหน้าที่ หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาป่าดอยอินทนนท์ เป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลแก่คณะสื่อมวลชน ในการป้องกันไฟป่า การปลูกต้นไม้หายากทดแทนในพื้นที่ป่า ตลอดถึงการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าดอยอินทนนท์ประโยชน์ที่ราษฎรในท้องถิ่นได้รับในปัจจุบัน และชมต้นกุหลาบพันปีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ป่าเมฆ พันธุ์ไม้ร่องห้วย มอสทนไฟ และเฟิร์นสัญลักษณ์ป่าบริสุทธิ์ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,400 เมตร
โดยคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมสภาพพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูจนมีความอุดมสมบูรณ์บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ทั้ง สภาพป่าดิบชื้น การอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี โดยนำกล้วยไม้รองเท้านารีจากการขยายพันธุ์มาปลูกในพื้นที่ป่าธรรมชาติ บริเวณน้ำตกลานเสด็จ ที่เป็นต้นน้ำป่าดิบชื้นดอยอินทนนท์หนึ่งในสายน้ำแม่น้ำปิง ชมความสมบูรณ์ของป่าสามชั้นของดอยอินทนนท์ ทั้งไม้ชั้นบน ไม้ชั้นกลาง และไม้ชั้นล่าง ไลเคน ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งในระดับสูง บริเวณโคนต้นไม้ และไม้ล้มนอนไพร ทุ่งหญ้าบนพื้นที่สูง ณ จุดชมวิว ซึ่งเป็นจุดหน้าผาที่เลียงผาออกหากิน
สำหรับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.จอมทอง อ.แม่แจ่ม อ.แม่วาง และ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 482.4 ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่ ประกอบไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาถนนธงชัยตะวันออก มียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมาคือ ดอยหัวมดหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 2,330 เมตร
ป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะ ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ ดอยอินทนนท์เดิมมีชื่อว่า "ดอยหลวงอ่างกา" ต่อมาได้ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าอินทวิชยนนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗
ลักษณะภูมิอากาศ มีลักษณะแบบอบอุ่นจนถึงหนาวจัด พันธุ์ไม้และสัตว์ป่าในอุทยานนั้นมีสภาพเป็นป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ตะเคียน สนเขา เต็ง เหียง มะเกลือ ไม้แดง ประดู่ รกฟ้า มะค่า ไม้เก็ดแดง ไม้จำปีป่า ตะแบก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ป่าให้พบเห็นอีกด้วย เช่น ฟ้ามุ่ย ช้างแดง รองเท้านารี และกุหลาบป่า สำหรับมอส ข้าวตอกฤๅษี ออสมันด้า มีอยู่ทั่วไปในระดับสูง แต่สัตว์ป่าในเขตอุทยานนั้นมีจำนวนน้อย เนื่องด้วยในอดีตถูกล่าไปเป็นอาหาร
ปัจจุบันสัตว์ที่หลงเหลือก็มี เลียงผา กวางผา กวาง เสือ หมูป่า หมี ชะนี กระต่ายป่า และ ไก่ป่า ส่วนสัตว์น้ำมีการพบ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กในอันดับปลาหนังชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาแค้ที่พบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลก ที่ลำธารน้ำไหลแรงบนทิวเขาอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร ปัจจุบันมีสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว