## ร.13 จัดพิธีวันสถาปนาหน่วย ครบรอบ 136 ปี ##  

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566  พันเอก จักรพงษ์  โพธิ์นาแค ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 พร้อมด้วยกำลังพลและครอบครัวของหน่วย จัดพิธีเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ครบรอบ 136 ปี ณ กองบังคับการกรมทหารราบที่ 13 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พลตรี นรธิป  โพยนอก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เป็นประธานในพิธีฯ ซึ่งในการจัดงานพิธีเนื่องในวันสถาปนากรมทหารราบที่ 13 ในครั้งนี้  หน่วยได้จัดให้มีการบวงสรวงถวายสักการะบูรพกษัตริย์พระบรมรูป 9 รัชกาล, การประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับกำลังพลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน , การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนภารกิจของหน่วยมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีอดีตผู้บังคับบัญชา, อดีตกำลังพล, มวลชนภาคธุรกิจในพื้นที่ และส่วนราชการในพื้นที่ ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีดังกล่าว 
โดยกรมทหารราบที่ 13 มีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบฮ่อ ในแคว้นหัวพันห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท   กองทัพฝ่ายใต้ มีนายพันเอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้ พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) เป็นทัพหน้าเข้าตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ  จนกระทั่ง พ.ศ. 2429 สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ จึงยกกำลังส่วนหนึ่งกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7  มิถุนายน พ.ศ. 2540 และคงกำลังส่วนหนึ่งไว้ในบังคับบัญชาของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทหารของกรมทหารราบที่ 13 โดยมี พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก และต่อมา ในปี พ.ศ.2434 ได้จัดตั้งเป็นมณฑลลาวพวน โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน มีกองบัญชาการมณฑลที่เมืองหนองคาย ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงยอมเสียสละส่วนน้อย เพื่อรักษาประเทศไว้ จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส และปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ โดยห้ามประเทศสยามตั้งกองทหารและป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง  ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 จึงได้เคลื่อนย้าย มณฑลลาวพวน ลงมาทางใต้เข้าที่ตั้งบริเวณบ้านหมากแข้งริมหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์) ในปัจจุบัน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2443 ได้เปลี่ยนนามหน่วยจากมณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีกระแสพระบรมราชโองการ ให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีอยู่ในเขตการปกครองของ มณฑลอุดร ขึ้นที่บ้านหมากแข้งโดยให้ย้ายกำลังทหารจากหนองนาเกลือ มาตั้งอยู่ที่ ริมหนองขอนกว้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายประจักษ์ศิลปาคม
ในปัจจุบัน กำลังทหารในขณะนั้นมี 2 หน่วยคือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และกรมทหารราบที่ 7 ปี พ.ศ.2486 กำลังส่วนหนึ่งได้ถูกจัดตั้งเป็น กรมทหารราบที่ 13 โดยมี พันโท หม่อมหลวง 
เอก อิศรางกูล เป็นผู้บังคับการกรม เมื่อปี พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ 
และถวายพระเกียรติแก่พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กรมทหารราบที่ 13 แปรสภาพเป็น กรมผสมที่ 13 จนถึงปี พ.ศ.2510 ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุดร และ ผู้บังคับการกรมผสมที่ 13 ซึ่งเดิมเป็นคนเดียวกัน ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด และมีบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะตามตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน มีชื่อย่อหน่วยว่า “ผส.13” พร้อมทั้งให้เปลี่ยนการเรียกชื่อหน่วยขึ้นตรงจากกองพันที่ 1 , 2 และ 3 เป็น กองพันทหารราบที่ 1 , 2 และ 3 ตามลำดับ ต่อมากรมผสมที่ 13 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยเป็น กรมทหารราบที่ 13 เมื่อ ปี พ.ศ.2486 เป็นต้นมา ปัจจุบันมี พันเอก จักรพงษ์ โพธิ์นาแค เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 ลำดับที่ 53 ดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2564 จนถึงปัจจุบัน
//////////////////////////////////////
ข้อมูลภาพข่าว
ร.ต.กฤษฎา มณีใส
เบอร์โทรศัพท์ 0885397430 
#กรมทหารราบที่ 13