สภาอาชีวะเหนือ 4 สวัสดีนายก อบจ. นายก อบจ. ต้อนรับคณะกรรมการสภาอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4 เข้าสวัสดีปีใหม่ ปี 2566 รายงานผล หารือการจัดการศึกษา  

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 มกราคม 2565 พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ นายสุนทร ทองใส นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4, นายสมคิด บุญเทวี ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4, นายพงศ์กานต์ เอียมสงคราม ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์, นายทวีวัฒน์  รื่นรวย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี  พร้อมด้วยคณะ เข้าพบเพื่อสวัสดีปีใหม่และขอพร  พร้อมทั้งปรึกษาแนวทางการจัดการศึกษาด้านสายอาชีพให้แก่นักเรียน  ณ ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 

นายสุนทร ทองใส กล่าวว่า “การก่อสร้างอาชีพให้แก่นักเรียน-นักศึกษานั้น  โดยที่ผ่านมาได้ทำ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(ดอยสะเก็ด) เชียงใหม่ กับ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 4 ซึ่งเป็นการศึกษาทวิภาคี เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสนใจจะเข้าร่วมโครงการโดยเป็นการศึกษาในเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์ (Robot)  เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา(ดอยสะเก็ด) เชียงใหม่ มีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติได้จริง และยังเป็นการต่อยอดทางการฝึกปฏิบัติให้นักศึกษา

ส่วนหลักสูตรช่างยนต์ได้มีการปรับหลักสูตร  โดยร่วมมือกับบริษัทวิริยะประกันภัย ในการให้นักศึกษาเรียน 1 ปี และฝึกงาน 1 ปี ซึ่งในระหว่างที่ฝึกงานนั้น นักศึกษาจะได้รับเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท และหากเมื่อฝึกงานจบหลักสูตรสนใจเข้าทำงานต่อจะได้รับเงินเดือน 25,000 บาท” 

พร้อมกันนี้ นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีลดลง 20-30 % เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี อีกทั้งพื้นฐานด้านการศึกษาที่ไม่ดี  อย่างเด็กนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย(จิรประวัติ)นครสวรรค์ เมื่อจบ ม.3 ที่ไม่ได้ศึกษาต่อระดับ ม.ปลาย เกือบ 40% เพราะต้องออกไปช่วยงานทางบ้าน หรือไปเรียนต่อสายอาชีพ  ซึ่งในปีที่ผ่านทาง อบจ.ได้สนับสนุนทุนการศึกษาระดับอนุปริญญาตรี -ปริญญาตรี จำนวน 3,000,000 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-มัธยมศึกษาตอนปลาย 2,000,000.- บาท ทาง อบจ.จึงเห็นควรให้เด็กที่ศึกษาต่อทางสายอาชีพเข้าเงื่อนไขในการรับทุนด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนต่อตามความสามารถ ตามความถนัดและความสนใจ อันจะเป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีงานทำ มีรายได้และมีความรู้ไปสู่สากล เพราะในปัจจุบันปริญญาตรี หลายสาขาจบมาแล้วไม่มีงานรองรับ จึงเห็นว่าเรียนสายอาชีพยังสามารถช่วยครอบครัวได้ และยังแก้ปัญหาเด็กทิ้งถิ่นและผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง จึงควรให้เด็กได้ทำงานที่บ้าน เพื่อได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น"
////
ชาติชาย/นครสวรรค์