นายก อบจ.อุดรธานี ร่วมประชุมส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมฯ พร้อมผลักดันให้เป็นเมืองผ้าไหมควบคู่กับผ้าหมี่ขิด  

 

วันที่ 19 ม.ค.2566 เวลา 09.30 น.นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี พร้อมด้วย นายสุเทพ สมบูรณ์ ที่ปรึกษานายก อบจ.อุดรธานี นางวรัญธรณ์ บวรศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักปลัด อบจ.อุดรธานี เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ.อุดรธานี ครั้งที่ 2/2566  ณ ห้องประชุมสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ เขต 2 อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี ประธานการประชุม นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย/ประธานหอการค้าภาคอีสาน/ประธานอาวุโสหอการค้า จ.อุดรธานี นางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรและสหกรณ์ จ.อุดรธานี นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตร จ.อุดรธานี นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศจ.อุดรธานี นายเดชา รอดระรัง ปมจ.อุดรธานี นายเพ็ชรรัตน์ โยวะบุตร ผอ.ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการประชุม 

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี ประธานการประชุม กล่าวว่าการประชุมในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2565 เกี่ยวกับการดำเนินงานผลักดันนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ ผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกรมหม่อนไหมในพื้นที่ นโยบายการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรในพื้นที่ จ.อุดรธานี การเชื่อมโยงงานนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ จ.อุดรธานีกับ อปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างท้ายคำขวัญ จ.อุดรธานีที่ว่า ธานีผ้าหมี่ขิด จะทำอย่างไรและกำหนดแนวทางอย่างไรให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ต้องประชุมกันอีกหลายรอบ และท้ายที่สุดจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี ได้ให้ทางเกษตรไปสำรวจทั้ง จ.อุดรธานี ว่ามีใครสนใจที่จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีเท่าไหร่ก็เอารายชื่อมา ส่วนที่สองก็คือให้ พช.ไปสำรวจกลุ่มอาชีพ กลุ่มโอทอป ไม่ว่าจะเป็นรายเดี่ยวที่ทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หรือเป็นกลุ่มบุคคล อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน ร่วมกันบูรณาการร่วมกัน หากมีการเปิดศูนย์หม่อนไหม หรือเปิดตลาดนัดโดยกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 4-5 ก.พ.ที่จะมาถึง ก็จะเชิญเกษตรจังหวัด หรือ อบจ.ให้มาช่วยปรับภูมิทัศน์ หรือจิตอาสามาช่วยกัน

นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า “ที่เราได้มาประชุมกันที่นี่ ก็ด้วยแนวคิดของท่านรอง ผวจ.ที่ว่ามาจากส่วนหนึ่งในคำขวัญที่ว่า ...ธานีผ้าหมี่ขิด เรามองร่วมกันว่ามันไม่มีเพียงผ้าหมี่ขิดแต่อย่างเดียว เรามีความสามารถพอในเรื่องผ้าหมี่ขิด แล้วในเรื่องผ้าไหม ทำไมเราจะทำไม่ได้ เพราะใช้กี่ตัวเดียวกัน ใช้เวลาใกล้เคียงกัน ราคาสูงแตกต่างกัน ในอนาคตถ้าเราตั้งเป็นศูนย์ หรือเป็นวิสาหกิจชุมชน อีกทั้งท่านรอง ผวจ.เชิญประชุมหลายหน่วยงานในวันนี้  ผมเชื่อว่าเราเดินหน้าได้ อบจ.อุดรธานีมีทรัพยากรพอที่จะสนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ เราพร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานที่จะร่วมกันสร้างอาชีพให้กับประชาชนอยู่แล้วในทุกมิติ อย่างทุกวันนี้ก็มีการส่งเสริมการปลูกไผ่ การปลูกมะขามเปลี้ยวฝักใหญ่ ส่งเสริมการเลี้ยงควายงาม สนับสนุนการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น ผมเชื่อว่านอกจากจะให้ จ.อุดรธานีเป็นเมืองผ้าหมี่ขิดแล้ว ก็คงจะไม่เกินความสามารถที่จะทำให้เป็นเมืองผ้าไหมด้วย”

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง ผวจ.อุดรธานี ประธานการประชุม กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตผ้าไหมก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในการทำผ้าฝ้าย ผ้าหมี่ เทียบกับทำผ้าไหมในเวลาใกล้เคียงกันแต่ราคาแตกต่างกันมาก คนที่นิยมใช้ผ้าก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องมาดูกัน มาวางแผนกันว่าจะทำอย่างไร จะอบรมให้ความรู้กันอย่างไร ปัญหาอุปสรรคอะไร ใช้พื้นที่เท่าไหร่ แบ่งกลุ่มใหม่ และกลุ่มหรือคนที่ทำมาก่อนแล้ว ซึ่งเราจะได้ประสานกับท่านนายก อบจ.ให้เข้ามาสนับสนุน มาช่วย โดยเฉพาะคนกลุ่มที่ทำมาก่อนต้อง ต้องรักษาให้อยู่รอดแล้วให้คนที่รอดไปขยายเครือข่าย ออกไปเป็นพี่เลี้ยง เพราะถ้าเริ่มจากคนที่ทำใหม่ ๆ เลย อยากที่จะทำอย่างเดียวแล้วไปไม่รอดอาจ ล้มเหลว เขาก็อาจจะกล่าวหาได้ ส่วนคนที่จะเริ่มใหม่ก็ให้ทางเกษตรจังหวัดสำรวจ รวบรวมรายชื่อมา ไม่ว่าจะเป็นคนใหม่เลย ไม่ว่าจะสนใจเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักก็ให้ส่งรายชื่อมา จำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ซึ่งท่านนายก อบจ.ได้บอกไว้แล้วว่ายังไงก็แล้วแต่ จะมีความรู้อยู่แล้วหรือไม่มีเลย เราก็ต้องจัดอบรมเพิ่มเติมให้เขาก่อน เขาจะได้มีประสบการณ์ที่มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำให้ได้ก่อน หากมัวแต่กังวล เอาปัญหาอุปสรรคตั้ง เราก็จะท้อแท้ไม่อยากทำ ผมฟังปัญหาอุปสรรคมาก ๆ ก็ไม่อยากจะทำแล้ว ดังนั้นให้ตั้งต้นใหม่ เอาหลักที่ไปได้แล้วไปต่อ เอาตลาดเป็นตัวนำความสำคัญให้เขาเดินต่อไปได้  โปรเจคนี้ต้องไปได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจว่าทำได้ แล้วจะไปต่อได้ เพราะต้นทาง ระหว่างทางและปลายทางมีสิ่งที่รองรับอยู่แล้ว ปัญหาของเราคือต้นทาง คือคนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยังขาด เราต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ต้องตอบเขาให้ได้ว่า เมื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้วรายได้จะมากกว่าเดิม เมื่อเขาทำแล้วเห็นผลจริง ๆ เขาก็จะทำต่อ หน้าที่ของเราคือทำให้เขารอดและตอนนี้ ก็ไม่ต้องห่วง ท่านไม่ต้องโดดเดี่ยว ท่านไม่ได้มีเพียงศูนย์หม่อนไหมฯ เท่านั้นที่ช่วย นายก อบจ.ก็จะช่วย พาณิชย์ อุตสาหกรรมก็จะมาช่วย ทุกอย่างช่วยได้ รวมถึงตลาดก็จะหาให้ ฉะนั้นทำที่ศูนย์แรก ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกำแมด ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี    ”
#จังหวัดอุดรธานี #องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี #อบจอุดรธานี #มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี2569#130ปีเมืองอุดร
--------------------------------------