พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ เสริมสร้างความรู้และพัฒนาการปรับสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รุ่นภาคเหนือ  

    พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ เสริมสร้างความรู้และพัฒนาการปรับสภาพแวดล้อม
และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รุ่นภาคเหนือ

          วันที่ 13 มกราคม 2566  เวลา 13.00 น. ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะในการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รุ่นภาคเหนือ เพื่อเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะในการปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้านของผู้สูงอายุให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design)

      นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มเฉลี่ยวันละ 3 คน โดยเกิดเหตุบริเวณภายในบ้านถึงร้อยละ 69.41 ได้แก่ ห้องน้ำ และห้องนอน นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการอบรมครั้งนี้ถือเป็นการจุดประกาย เติมเต็มความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินสภาพบ้านผู้สูงอายุ การเขียนแบบเบื้องต้นสำหรับช่าง การประมาณราคาเบื้องต้นสำหรับช่างและการปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และสามารถประมาณการราคาในการปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้านของผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่ท่านอาศัยหรือปฏิบัติงานอยู่ ตลอดจนลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ต่อไป
      
          สำหรับรูปแบบการอบรมเป็นการให้ความรู้ และการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ เรื่อง ความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) การปรับบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ การประเมินสภาพบ้านผู้สูงอายุ การเขียนแบบเบื้องต้นสำหรับช่างชุมชน และการประมาณราคาเบื้องต้นสำหรับช่างชุมชน รวมทั้งประเมินความรู้ก่อนการอบรมฯ (Pre-test) และหลังการอบรมฯ (Post-test) จากทีมวิทยากรจากหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ชมภูนุท หอมหวาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยการอบรมในครั้งนี้ จัดระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2566 มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 100 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองช่าง เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด จำนวน 10 จังหวัด เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จำนวน 2 แห่ง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และช่างในชุมชน