ปปส.ภ. 7 ติวเข้มเครือข่ายสื่อภาคตะวันตก สร้างการรับรู้ รณรงค์ ปชส.งานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด   


เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 27 ธ.ค.2565 ที่โรงแรมบ้านกรูด อาเคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  นางมนัญญา ไวอัมภา ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)ภาค 7 กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมในการเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันตก เพื่อสร้างการรับรู้ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์งานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2566 และศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายนพรัตน์ ไวอัมภา ผู้อำนวยการส่วนประสานพื้นที่ ปปส.ภ.7 น.ส.สมศรี วัชรจังกูล ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข่าวและเฝ้าระวัง ปปส.ภ.7 มี สื่อมวลชนในพื้นที่ภาคตะวันตก ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น สถานีวิทยุชุมชน สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวม 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งยังมี สื่อภาครัฐ มี สำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตลอดจน เจ้าหน้าที่ ศอ.ปส.จังหวัดในพื้นที่ 8 จังหวัด เจ้าหน้าที่ ศอ.ปส.จ.ประจวบฯ เจ้าหน้าที่ ปปส. ภาค 7 โดยมีวิทยากร จากสำนักงาน ปปส.ภาค 7 วิทยากรจากสถานประกอบการภาคเอกชน วิทยากรจากหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านทางสาย ผู้นำชุมชน เข้าร่วม 
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. มีบทบาทในการกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีภารกิจสำคัญในการเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีเอกภาพ โดยแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2566 ของ สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินงาน ตลอดจนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของบุคลากรในการปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร อีกทั้งยังมีหน้าที่พัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับยาเสพติด 
อีกทั้ง สำนักงาน ป.ป.ส. มีกรอบแผนการดำเนินงานประกอบด้วย 6 มาตรการ 20 แนวทาง ประกอบด้วย มาตรการการป้องกันยาเสพติด มาตรการปราบปรามยาเสพติด มาตรการยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด มาตรการบำบัดรักษา มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ และมาตรการบริหารจัดการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับพันธกิจ หน้าที่ และอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดขององค์กร และสามารถขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ. 2566 – 2570 ) ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ คือ "ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย"
นอกจากนี้ มาตรการป้องกันยาเสพติด มีกรอบการดำเนินงานในการส่งเสริมและพัฒนาการเฝ้าระวัง และป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่สื่อออนไลน์ ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเฝ้าระวัง การโฆษณาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดในทางที่ผิด การซักชวนให้ใช้ยาเสพติด และการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ในการค้ายาเสพติด ตลอดจนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการป้องกัน โดยดำเนินการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้สื่อในพื้นที่สังคมออนไลน์ทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยปลอดภัยจากยาเสพติด ส่งเสริมและพัฒนาสื่อ เนื้อหา ช่องทางการสื่อสาร และเฝ้าระวังและควบคุมปัญหายาเสพติด ในพื้นที่สื่อออนไลน์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายและขยายความร่วมมือในการป้องกันยาเสพติด ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการร่วมกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีบทบาท อิทธิพล ต่อความคิดของประชาชน ในสื่อสังคมออนไลน์ (Influencer) ในการป้องกันยาเสพติด 
ในส่วน มาตรการบริหารจัดการ มีสาระสำคัญในการดำเนินงาน คือ เพิ่มศักยภาพการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามกรอบประมวลกฎหมายยาเสพติด และกรอบนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วย การป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ. 2566 – 2570 ) ส่งเสริมบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ สร้างความเชื่อมั่น ความตระหนักรู้ให้กับประชาชน มีมุมมองต่อปัญหายาเสพติดที่ถูกต้องเหมาะสม พร้อมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมอย่างรอบด้าน ปรับกระบวนทัศน์ สร้างการรับรู้ รณรงค์ และประชาสัมพันธ์ จัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการสร้างการรับรู้ ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย พัฒนารูปแบบและช่องทางการสื่อสาร สำหรับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่สังคมออนไลน์ สร้างเครือข่ายสื่อมวลชน และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้ งานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์องค์กร เพื่อสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสื่อมวลชนและเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ เป็นกลไกหลักสำคัญที่จะเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางการสื่อสาร เผยแพร่สื่อด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ให้แก่ประชาชนในระดับต่างๆ สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม กว้างขวาง ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้เห็นภาพการดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชน เกิดความเข้าใจ พึงพอใจ และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อหน่วยงานภาครัฐ อันส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ปี 2566 ของสำนักงาน ป.ป.ส.

วัตถุประสงค์  1. เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางสื่อสารระหว่างสำนักงาน ปปส.ภาค 7 กับหน่วยงานภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน และประชาชนในระดับต่างๆ เผยแพร่สื่อด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม กว้างขวาง  
2. เพื่อพัฒนาเนื้อหาสื่อที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างการรับรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจนโยบายการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2566 และนโยบายของรัฐบาล
3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ กับ สำนักงาน ปปส.ภาค 7 และให้เครือข่ายสื่อมวลชลในพื้นที่ เป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กับประชาชนในระดับพื้นที่ 
4.เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น แนวทางเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนร่วมกับกำหนดแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ร่วมกัน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางสื่อสารระหว่างสำนักงาน ปปส.ภาค 7 กับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน และประชาชนในระดับต่างๆ เพื่อเผยแพร่สื่อด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม กว้างขวาง 2. ปปส.ภาค 7 มีสื่อที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การสร้างการรับรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจนโยบายการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2566 และนโยบายของรัฐบาล 3. เครือข่ายสื่อมวลชน เกิดการมีส่วนร่วมการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกับสำนักงาน ปปส.ภาค 7 เป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกับประชาชนในระดับพื้นที่ ตลอดจนเกิดการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น แนวทางเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ร่วมกัน///////////////