พม. จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล : พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม”  

พม. จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล :
พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม”

         วันนี้ 2 ธ.ค. 65 เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล : พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่คนพิการต้นแบบ องค์กร และหน่วยงานที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้การต้อนรับ ซึ่งมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ คนพิการ ครอบครัวคนพิการ อาสาสมัคร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านคนพิการ บุคคลทั่วไป และสื่อมวลชน จำนวน 2,500 คน เข้าร่วมงาน ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

 

       นายอนุกูล  กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันคนพิการสากล โดยประเทศสมาชิกทั่วโลกได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และแสดงออกซึ่งพลังและศักยภาพของคนพิการ เพื่อให้เกิดเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ สำหรับปี 2565 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล : พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม” (Transformative solutions for inclusive development : the role of innovation in fuelling an accessible and equitable world) ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงได้จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “การปฏิรูปสู่การพัฒนาเพื่อคนทั้งมวล : พลังนวัตกรรมสู่โลกที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม” พร้อมทั้งนำแนวคิด “ยุทธศาสตร์แห่งความเสมอภาค (EQUAL) ” เป็นธีมหลักของการจัดงานดังกล่าว ตามแนวทางการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล ในการมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งโอกาส”

      นายอนุกูล  กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2,138,155 คน คิดเป็นร้อยละ 3.07 ของประชากรทั้งประเทศ และพบว่าคนพิการสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 1,205,184 หรือร้อยละ 56.37 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบุว่าในปี 2571 สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อีกทั้งจากสถิติของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น พบแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงที่จะมีความพิการร่วมด้วย ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับคนพิการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเร่งส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทั่วถึง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการให้บริการคนพิการ ตามนโยบายรัฐบาลในพัฒนาให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงกับศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ณ โรงพยาบาล รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการ นอกจากนี้ มีการส่งเสริมและพัฒนาให้คนพิการมีงานทำ มีสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมถูกสุขลักษณะ และริเริ่มโครงการจัดหาครอบครัวอุปการะให้กับคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล เป็นต้น  นายอนุกูล  กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2565 มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ 1) การอ่านสารวันคนพิการสากล ประจำปี 2565  2) การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่คนพิการต้นแบบและหน่วยงาน องค์กรที่สนับสนุนด้านคนพิการ  3) เวทีเสวนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนพิการ  4) เวที TED Talk หัวข้อ Code the PWDs Future : เทคโนโลยีแบบไหนที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทย  5) สมัชชาเครือข่ายคนพิการระดับชาติ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2565  – 2567) 6) การประกวด Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) Symposium Innovative Policy : นวัตกรรมเชิงนโยบายสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการไทย 7) การแสดงพลังและศักยภาพคนพิการ  8) บูธบริการให้คำปรึกษาแนะนำสิทธิ สวัสดิการต่างๆ สำหรับคนพิการ 9) บูธนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมด้านคนพิการของภาคีเครือข่าย และ 10) บูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าของคนพิการ เป็นต้น