พม. ดึงภาคีเครือข่าย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลภายในครอบครัว ปี 2565 ภายใต้แนวคิด R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม
วันนี้ 25 พ.ย. 65 เวลา 13.45 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ภายใต้แนวคิด "R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม" พร้อมทั้งร่วมประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลภายในครอบครัว โดยผู้แทน 27 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ร่วมกับภาคีเครือข่าย 3 หน่วยงาน อีกทั้งเป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ "บุคลากร/หน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประเภทองค์กร 5 รางวัล และประเภทบุคคล 5 รางวัล ณ โรงแรมบางกอกชฎา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่ส่งกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง และกระตุ้นให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติความรุนแรง
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย สค. จึงได้กำหนดแนวคิด “R-E-S-P-E-C-T สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” เพื่อการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ สำหรับปี 2565 ซึ่งมีการจัดการประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 10 และรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมบางกอกชฎา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ประกอบด้วยกิจกรรมวิชาการ ได้แก่ “การประชุมวิชาการอนามัยครอบครัว” ภายใต้แนวคิด “ดุลภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรง” การเสวนา “ดุลยภาพครอบครัว สู่ความมั่นคงของมนุษย์” และ “พหุปัจจัยกับครอบครัวไทยและความรุนแรงในครอบครัว” และการเปิดตัวหลักสูตรอบรมออนไลน์เพื่อสร้างครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย (DV - learning) ที่รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อการช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence) ที่ครบถ้วนมากที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศไทย เป็นต้น
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย 30 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ด้วยการเสริมสร้างทักษะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สนับสนุนการเสริมพลังให้แก่สตรี โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำความรุนแรง ผลักดันการจัดบริการที่ดีและเข้าถึงง่ายให้แก่สตรีและครอบครัว สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมในชุมชนและสังคม การป้องกันและคุ้มครองเด็กและเยาวชน การเคารพและยอมรับความแตกต่าง และการสร้างทัศนคติที่ดี ความเชื่อที่ถูกต้อง โดยจะไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกัน บนรากฐานสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน